นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (23 สิงหาคม 2562) ได้มาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้กำกับดูแล พร้อมให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมฯ เพื่อสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยในช่วงแรกได้เข้าเยี่ยมชมบรรยากาศการใช้บริการของประชาชนจากส่วนให้บริการข้อมูลและ จดทะเบียนธุรกิจ ณ ชั้น 3-4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมกับพูดคุยเพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการใช้บริการของกรมฯ โดยภาพรวมมีความเห็นไปในทิศทางที่ดีจึงได้ยืนยันกับผู้ใช้บริการว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะพัฒนาระบบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยเน้นความความสะดวก รวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ มีข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ธุรกิจได้ทันสถานการณ์ และแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “จากนั้นได้เข้าประชุมหารือถึงทิศทางการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน สำหรับทิศทางการดำเนินงานที่ได้เร่งรัดให้กรมฯ เดินหน้าต่อไปให้เกิดผลสำเร็จ เริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ ‘โชวห่วย’ แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่มีความสำคัญเพราะถือเป็นเสน่ห์ของธุรกิจไทยและกลไกสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ทำให้เงินหมุนเวียนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น โดยจะปรับภาพลักษณ์จากโชวห่วยแบบดั้งเดิมไปสู่ SMART โชวห่วย ให้เหมือนร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) สมัยใหม่ที่ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการร้าน การทำบัญชีที่มีระบบ การออกแบบร้านค้า/ชั้นวางสินค้าให้สะดวกต่อการซื้อ และสวยงามน่าเข้าร้าน”
“เบื้องต้นจะดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลจำนวนร้านค้าโชวห่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน พร้อมคัดเลือกร้านค้าที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็น SMART โชวห่วย รวมถึงการลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากเจ้าของร้านโชวห่วยโดยตรง จะได้หาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุดตามข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาร้านโชวห่วย ทั้งด้านการให้ความรู้ในการบริหารธุรกิจและการสนับสนุนโปรแกรมที่ใช้ในร้านค้า สำหรับการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ Startup, SMEs, OTOP SELECT และแฟรนไชส์จะเร่งผลักดันให้ใช้กลไกด้าน Digital Economy, Bio Economy, Green Economy, Sharing Economy และ Creative Economy ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติบโต”
“อย่างไรก็ดี การขยายช่องทางการตลาด เป็นอีกภารกิจที่ได้กำชับให้กรมฯ ดำเนินการเร่งด่วน โดยมุ่งไปที่ การส่งเสริมให้ธุรกิจใช้ช่องทาง e-Commerce เป็นเครื่องมือสร้างและขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพให้ SMEs มีโอกาสแข่งขันทางการตลาดมากขึ้น และการยกระดับศักยภาพธุรกิจบริการให้มีมาตรฐานสากล อาทิ สปา, ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ และร้านอาหารไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงนำรายได้เข้าประเทศได้เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ ตลอดจนสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจที่เน้นการสร้างพันธมิตรทางการค้าทำให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็งมากที่สุด”