เมื่อวันที่3 มี.ค.59 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวที ราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ "สื่อตรวจสอบสังคม สังคมตรวจสอบสื่อ ความท้าทายบนเส้นทางจริยธรรม” โดยมีตัวแทนองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการตัดสินว่าอะไรถูกผิดจริยธรรมของสื่อ เพราะกฎหมายเขียนไว้ให้กสทช.ทำหน้าส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมในสื่อควบคุมกันเอง การกำกับดูเเลผู้ได้รับใบอนุญาตและเพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานจริยธรรมต่อวิชาชีพ สิ่งที่กสทช.จะสามารถทำอะไรได้ คือ พยายามให้องค์กรวิชาชีพสื่อลุกขึ้นมาช่วยกำกับดูเเลในมาตรฐานจริยธรรม แต่สิ่งที่ กสทช.ยังไม่ได้ทำคือการเชิญแต่ละช่องเข้ามาพูดคุยเพื่อกำหนดมาตรฐานจริยธรรมร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมา กรอบ กติกา และมาตรฐานจริยธรรมให้แต่ละช่องนำไปกำหนดกันเอง แต่เมื่อเกิดกรณีไร่ส้มขึ้น ก็จะเริ่มเห็นว่ามาตรฐานแต่ละช่องก็จะไม่เหมือนกัน
"ทางคณะกรรมของ กสทช.เห็นว่า คงถึงเวลาที่จะมีการพูดคุยกัน และตัดสินว่ากรณีแบบนี้เข้าข่ายผิดจริยธรรมหรือไม่ แล้วหากเกิดกรณีแบบนี้กับช่องอื่น จะมีแนวปฏิบัติอย่างไร มุมหนึ่งจะเป็นการตรวจสอบกันเองทางหนึ่ง แต่อีกทางคือการวางมาตรฐานจริยธรรมร่วมกันว่า มาตรฐานทางจริยธรรม จรรยาบรรณควรเป็นอย่างไร เพื่อให้การตรวจสอบด้านจริยธรรมนั้นเข้มข้นมากขึ้น"
ด้านนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกรณีไร่ส้ม มีใบเสร็จอะไรที่จะชัดเจนมากกว่านี้อีก ถึงจะบอกว่าผิด มีหลายคนบอกว่า เมื่อไรก็ตามที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด คนคนนี้ก็ยังบริสุทธิ์ ซึ่งก็จริง แต่สิ่งสังคมต้องใส่ใจคือรายละเอียดและคำพิพากษาของศาล รวมถึงคำสารภาพของพยานต่างๆ ด้วย
"เราไม่ต้องเถียงในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย เท่าที่ศาลตัดสินออกมาก็ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เผลอๆ กรณีจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมนักการเมืองที่โกงนั้นยังสามารถมีที่ยืนอยู่ได้ในสังคม เพราะคนในสังคมมองแค่ว่าไม่เป็นไร ทำความดีเยอะ โกงบ้างไม่เป็นไร น่าผิดหวังในฐานะที่สร้างบรรทัดด้านจริยธรรมให้สังคม กลับถูกตั้งคำถามเรื่องนี้เสียเอง ต่อไปผมไม่แน่ใจว่าสื่อจะกล้าที่พูดในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณอีกหรือไม่" นายเทพชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่นายสรยุทธและช่อง3 เท่านั้นที่ตกเป็นเป้า แต่กำลังทำให้องค์กรสื่อทั้งวงการตกเป็นเป้าถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ซึ่งไม่แฟร์สำหรับคนทำสื่อคนอื่น ที่ต้องมาตอบคำถามในสิ่งที่ตอบไม่ได้ พร้อมกับเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ช่อง3 มีโอกาสที่จะเป็นพระเอก แต่โอกาสนั้นทางผู้บริหารไม่เลือก
ด้านนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่คนทำสื่อจะออกมากวาดบ้านตัวเองหรือไม่ ซึ่ง ใน อสมท เรากล้าพูดว่ากฎหมายเอื้อในระดับหนึ่ง นั้นคือการมีสหภาพแรงงาน ซึ่งวันนี้มีคำถามตรงมาสหภาพฯว่า ก่อนหน้านั้น สหภาพฯ ทำอะไรอยู่ ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า บัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้นามว่า MCOT Union นั้นไม่ใช่ของทางสหภาพฯ ช่วงเวลาที่ผ่านมามีข้อความมากมายที่อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ทางสหภาพฯได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชีนี้ไปแล้ว
"ดังนั้นการที่มีข่าวว่า ทางอสมท ปล่อยปะละเลยจนทำให้มีการทุจริตนี้ขึ้น อยากให้คนที่มีหลักฐานออกมาแสดงตัวเพื่อบอกว่าคนในอสมท พร้อมใจกันเป็นแมลงวันตอมแมลงวัน ในเรื่องของไร่ส้ม เราเชื่อว่าเอกสารการสอบสวนอยู่ในมือของผู้บริหารบางคน แต่ไม่ปล่อยมาให้ทางสหภาพฯ กลับไปปล่อยให้สื่อสำนักหนึ่ง วันนี้ต้องขอบอกว่าเมื่อเราจะอยู่บนเวทีแห่งการตรวจสอบ เราต้องพร้อมให้สปอตไลท์ฉายมาพร้อมที่ทุกคน ดังนั้นหากใครที่บอกว่า มีข้อมูลมากกว่าที่ศาลตัดสิน หรือมีพนักงานคนอื่นที่เกี่ยวข้องอีก ให้นำเอกสารตรงนั้นมาชี้แจง" ประธานสหาภาพแรงงาน อสมท กล่าว
ด้านนายวัสนต์ ภัยหลีกลี้ ผอ.สถาบันต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นบทเรียนของสื่อและเป็นบทพิสูจน์ของสังคม กับคำว่า จริยธรรมของสื่อ ความถูกความควร เป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ว่าสื่อจะจัดการอย่างไร องค์กรกำกับดูเเลของสื่อจะสามารถกำกับดูเเลกันเองได้หรือไม่ หลายคนอาจบอกว่าเรื่องทั้งหมดมาจากการอิจฉากันของคนชนชั้นกลางที่มีต่อคนบางคนหรือไม่ หรือกระแสข่าวที่ว่า สื่อที่เล่นข่าวกำลังมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้หรือไม่
"ผมคิดว่า คำถามเรื่องพวกนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น จริงๆ เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงแค่ความถูกความผิด ความเหมาะความควร ส่วนที่บอกว่าพิธีกรคนดังกล่าวเป็นคนดีช่วยเหลือคนอื่นน่าจะได้รับการอภัย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนประเด็นที่ว่า คดียังไม่สิ้นสุดก็แสดงว่าเขายังบริสุทธิ์ ซึ่งในเชิงหลักการเป็นอย่างนั้น แต่ในสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่มควรถูกยกเว้นในเรื่อง เช่นนักการเมืองหากมีการชี้มูลความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตัวเองก่อน เพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้น เป็นต้น" นายวสันต์ กล่าว
และกรณีของสื่อมวลชน หากมีการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักจริยธรรมร้ายแรง ทั้งยังมีการชี้มูลจาก ป.ป.ช. และศาลชั้นต้น ดูจากหลักฐานรูปคดีก็มีน้ำหนัก วันนี้สังคมคลางแคลงใจมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ต้นสังกัด ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้น สังคมจะเป็นคนให้คำตอบ
ด้านรศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตร์ระรุจิ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า วันนี้ทุกสื่อทุกสำนักเล่นข่าวกรณีไร่ส้มพร้อมเพรียงกัน ยกเว้นช่องเดียว ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หากเรายอมรับว่า สำนึกของสังคม จริยธรรมเป็นหลักการ เราต้องช่วยกัน และให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้นว่า เรื่องอย่างนี้องค์กรที่เกี่ยวพันกับสื่อก็ต้องช่วยกัน
ด้านนางสาวสุวรรณา จิตประภัสสร์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้มีกระแสบอยคอตไปทั่วภูมิภาค ดังนั้นสื่อมวลชนต้องไปไกลว่าแค่เรื่องของนายสรยุทธ เพราะกรณีนี้เป็นเพียงแค่ยอดภูเขานำแข็ง ซึ่งเรื่องสำคัญของฐานของภูเขานี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรื่องวิกฤติศรัทธาของประชาชนกับสื่อมวลชน จะเห็นว่าเรื่องนี้กระแสมาแรงขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ควบคุมกันเองของสภาวิชาชีพ ไม่ควรจะเป็นภาระของสภาวิชาชีพอย่างเดียวแต่ควรเป็นภาระของทุกคนที่จะควบคุม ต้องเป็นแมลงวันที่คอยตรวจสอบ