นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ของกระทรวงคมนาคมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ทุกกระทรวงติดตามงบประมาณปี 2562 จำนวน 1.7 แสนล้านบาท ที่ยังเบิกจ่ายไม่ทันในวันที่ 30 ก.ย. 2562 (งบค้างท่อ) โดยให้ปรับแผนให้สามารถนำงบดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมยังมีงบที่อยู่ระหว่างรอเบิกจ่ายอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายได้ตามแผน
แต่ส่วนที่คาดว่าจะเบิกจ่ายไม่ทันคือ งบเวนคืนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปี 2562 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งหารือสำนักงบประมาณในการปรับแผนงานนำงบดังกล่าวไปใช้กับแผนงานอื่น เช่น จ่ายค่าอุทธรณ์เวนคืนโครงการอื่น ประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่เหลือใช้ในแผนงานปรับปรุงทาง บูรณะซ่อมแซมถนน เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย เพื่อสรุปเสนอที่ประชุมครม.ในวันที่ 27 ส.ค.
ส่วนการของบค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 17,954 ล้านบาท โดยจะต้องขออนุมัติ ครม.ขยายกรอบอีก 12,534 ล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณให้กรมทางหลวงหารือ สำนักกฤษฎีกา พิจารณากรณีคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทน สอดคล้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หรือไม่ ซึ่งกรมทางหลวงจะเร่งทำรายละเอียดชี้แจงกฤษฎีกาเพิ่มเติม ซึ่งจะเสนอขอตั้งงบปี 63 ต่อไป
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีงบค้างจ่าย ในงานค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท เนื่องจากโครงการยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
“เป้าหมายต้องการเบิกจ่ายที่ 100% และต้องพยายามทำให้ได้โดยไม่มีเรื่องผิดระเบียบ ซึ่งปัจจุบันเบิกจ่ายไปได้แล้วประมาณ 65% แผนล่าสุด เป้าหมาย 30 ก.ย.จะเบิกจ่ายได้ 75% แต่หากสามารถนำงบเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ไปใช้ในแผนงานอื่นได้ จะเพิ่มการเบิกจ่ายได้เป็นกว่า 80%” นายศักดิ์สยาม กล่าว
สั่ง ขบ.ตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ 24 ชม.ทุก 90 กม.
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวมาตรการเร่งด่วนในการกำกับดูแล ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ และผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลง
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบการขนส่งสาธารณะโดยรวม อันจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า จึงได้มีข้อสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการ ดังนี้ 1. ดำเนินการทดสอบสมรรถภาพผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามหลักการวิจัย ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน แล้วเสร็จภายใน 90 โดยให้ดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐาน
2. ดำเนินการกำหนดจุดจอดพักรถโดยสารสาธารณะ ทุกระยะทาง 90 กิโลเมตรเพื่อดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานผู้ขับขี่ และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย โดยให้ประสานขอความร่วมมือใช้พื้นที่จากสถานบริการน้ำมันในจุดที่เหมาะสมและจัดเจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะที่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบ 150,747 คัน และผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ 1,203,790 คน เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพ ส่วนมาตรการตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารและผู้ขับขี่ในทางหลวงแผ่นดิน 111 สายทาง รวมระยะทาง 22,048 กิโลเมตร จะมีจุดตรวจสอบทั้งสิ้น 245 จุด โดยขอความร่วมมือจากสถานบริการน้ำมันในจุดที่เหมาะสม ส่วนงบประมาณในการดำเนินการนั้น นอกจากงบประมาณปกติของส่วนราชการแล้ว ยังสามารถใช้จ่ายจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน ซึ่งมีกรอบวงเงินราว 2,200 ล้านบาท