สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดตัวแบรนด์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ “มัดทอใจ”
พลิกโฉมแฟชั่นผ้าไหมไทย สร้างคุณค่าใหม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วัยทีน
สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หนุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผ้าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัด ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ สกลนคร พร้อมเปิดตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์ คอลเลคชั่น “มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย สร้างคุณค่าใหม่ออกแบบสดใสสไตล์วัยรุ่น รวมกว่า 40 ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม 25 % รองรับศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคอีสาน
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม และแผนพัฒนาภาค โดยมุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปีงบประมาณ 2562 นี้ ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงสู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมืองในพื้นที่เป้าหมาย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ สกลนคร โดยมุ่งมั่นนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาผสมผสานพัฒนาออกแบบแฟชั่นผ้าไทย เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ ให้กับกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นได้สวมใส่อย่างสวยงาม พร้อมใช้เทคโนโลยีในการตกแต่งสำเร็จบนผืนผ้าสร้างคุณสมบัติพิเศษให้กับผ้า ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายในยุค 4.0 โดยมีสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) หน่วยงานเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยดำเนินงานหลัก และสำนักงานอุตสาหกรรมทั้ง 4 จังหวัดเป็นหน่วยร่วมดำเนินงาน
สำหรับผลการดำเนินโครงการนั้น ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการผ้าพื้นเมืองจำนวน 510 คน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอใหม่สู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ มัดทอใจ : มรดกผ้าไทยร่วมสมัย “Mud Tor Jai : Modern Heritage Thai Textile” พร้อมผลิตต้นแบบชุดเสื้อผ้าแฟชั่น จากผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าฝ้ายที่ออกแบบลวดลายใหม่ทั้งหมด โดยใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าแฟชั่น (ชุดราตรี/ชุดเดรส) ที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน รวม 16 ชุด และกระเป๋า, ผ้าพันคอ, ผ้าคลุมไหล่, หมวก, ผ้าคาดผม รวม 24 ผลิตภัณฑ์ โดยรวมทั้งหมด 40 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิดจาก 4 จังหวัด 4 คอลเลคชั่น ประกอบไปด้วย
Collection 1 นครราชสีมา : ประณีตศิลป์ ศิลปะการร้อยมาลัย “Floral Weaving Artistry”
เทคโนโลยีการตกแต่งสิ่งทอในคุณสมบัติ : กลิ่นหอม/กลิ่นดอกไม้
Collection 2 ขอนแก่น : ภูมิปัญญาท้องถิ่นจักสานกระติบข้าวเหนียว “E-San San-Jai”
เทคโนโลยีการตกแต่งสิ่งทอในคุณสมบัติ : ป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต
Collection 3 สุรินทร์ : มนต์เสน่ห์นางอัปสรา ปราสาทศีรขรภูมิ “The Mystical Beauty of Apsaras, Sikhoraphum”
เทคโนโลยีการตกแต่งสิ่งทอในคุณสมบัติ : การทำให้เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่ม น้ำหนักเบา
Collection 4 สกลนคร : จังหวะสีสันวัฒนธรรมผ้าย้อมคราม “The Rhythm of Indigo Blue”
เทคโนโลยีการตกแต่งสิ่งทอในคุณสมบัติ : การต้านเชื้อแบคทีเรีย
โดยรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมลวดลายใหม่ที่พัฒนาภายใต้โครงการฯ นั้น สามารถเพิ่มมูลค่าได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 จากลวดลายดั้งเดิม ในเงื่อนไขของกระบวนการผลิตในระดับเดียวกันหรือต้องทำการผลิตได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตะกอในการทอ กระบวนการย้อมสีและมัดหมี่
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังตั้งเป้าสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน ที่กำลังซื้อค่อนข้างสูงและมีความสนใจในผ้าไทย พร้อมสร้างความร่วมมือแฟชั่นระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการผลิต เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ในตลาดอาเซียน+3 โดยเฉพาะ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ ASEAN+3 ซึ่งมีความนิยมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสำเร็จรูป
จากผลสำเร็จในการดำเนินโครงการครั้งนี้ นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานที่มั่นคง และสร้างรายได้ในท้องถิ่น ก่อให้เกิดเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาต่อยอดการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งทอและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดความสามัคคีและความเข้มแข็งของคนในชุมชน