นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารเปิดโครงการ “ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ 12,000 ต้น” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และให้สัมภาษณ์ว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ องค์การเภสัชกรรม และ กรมการแพทย์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นไปตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ แบบครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการปลูกกัญชาได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่าโดยในวันนี้จะได้เริ่มทำการปลูกต้นกล้ากัญชาเพื่อเป็นวัตถุดิบกัญชาสำหรับนำมาสกัดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นการปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของอาเซียน คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะสามารถส่งวัตถุดิบกัญชาดอกแห้ง จำนวน 2,400 กิโลกรัม ให้องค์การเภสัชกรรมนำไปสกัดเป็นยาจากสารสกัดกัญชา ยังรวมถึงการศึกษาวิจัยวิธีการปลูกต้นกัญชาและกัญชงในรูปแบบกลางแจ้ง (outdoor) เพื่อพัฒนาให้ได้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับวิสาหกิจชุมชน ได้วิธีการปลูกกัญชาที่ปลอดภัยและมีคุณภาพในพื้นที่ นำไปประยุกต์ใช้ จะนำไปสู่การปลูกในครัวเรือนๆ ละ 6 ต้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้กัญชาอย่างปลอดภัยในการรักษาตนเอง
“การปลูกกัญชาทางการแพทย์แบบเมดิคอลเกรด ด้วยสายพันธุ์ที่ดี ปลูกในระบบที่ปลอดภัย เพื่อรักษาสายพันธุ์ ที่ 3หน่วยงานร่วมมือกันทำในครั้งนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ และผมมั่นใจว่าผลผลิตที่ได้จะมีสารสกัดสำคัญทั้ง CBD และTHC ในสัดส่วนตามที่เราคาดหวังไว้ “นายอนุทิน กล่าว
ด้านศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย แม่โจ้ เป็นหน่วยงานต้นน้ำ เห็นว่าเพื่อให้ได้ต้นกัญชาแห้งที่มีคุณภาพเกรดทางการแพทย์นั้น ต้องปลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นไปตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านเกษตรอินทรีย์หรือ IFOAM, USDA Organic Standard ซึ่งเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลในระดับโลก แต่เนื่องจากกัญชายังมีสถานะเป็นยาเสพติด มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือ GSP (Good Security Practices) การปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้น ได้ดำเนินการปลูกด้วยระบบไร้สารเคมีสังเคราะห์ โดยการใช้วัสดุเพาะกล้า วัสดุปลูก ธาตุอาหารพืช จุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืชทั้งเชื้อราและกำจัดแมลง ตลอดจนแมลงตัวห้ำ โดยวัสดุทั้งหมดที่ใช้ได้รับการรับรองในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม
โดยโครงการนี้ได้ต่อยอดมาจากโครงการอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลห้าปีตั้งแต่ปี 2557-2562 ส่วนมาตรฐาน GSP นั้น ใช้ระบบความปลอดภัยตามแบบมาตรฐานของ อย., ปปส., อภ. ที่ควบคุมการผลิตในบริเวณที่ควบคุมอย่างเข้มงวด ด้านการเช้าออกบริเวณที่ปลูกพืชในระบบปิด ทั้งโรงเพาะกล้า โรงปลูก ด้วนระบบสแกนนิ้ว กล้องวงจรปิด รั้วล้อมรอบ และยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และสามาตรตรวจดูได้จากระบบสื่อสารทางไกลจากผู้เกี่ยวข้องและบันทึกข้อมูลไว้ตรวจสอบจากระบบได้มากกว่าหนึ่งปี
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงาน กลางน้ำได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสกัดวัตถุดิบกัญชาที่จะได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไว้แล้ว โดยทั้งเครื่องสกัดคุณภาพสูงและสถานที่ผลิตรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานกรรมวิธีที่ดีในการผลิตหรือ GMP ตามมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือ GSP และมาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี หรือ GLP สำหรับการตรวจวิเคราะห์ ควบคุมคุณภาพ นอกจากนั้นองค์การเภสัชกรรมได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับวัตถุดิบช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์ เพื่อให้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มีคุณภาพมาตรฐาน มีสัดส่วนปริมาณสารทีเอชซีและซีบีดีที่เหมาะสมกับตามความต้องการทางการแพทย์ โดยทีมงานขององค์การฯ จะเข้าไปตรวจประเมินในระหว่างการปลูก อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ที่สำคัญดอกกัญชาแห้งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ มีผลการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อน และมีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มั่นใจว่าผลผลิตที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะได้น้ำมันกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานครบวงจรตั้งแต่การปลูก การสกัดเป็นยา ซึ่งกรมการแพทย์จะได้นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำน้ำมันกัญชาล็อตแรกไปทำการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ขณะนี้รอผลการทดลอง รวมทั้งใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด นอกจากนี้สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติบรมราชชนนี ได้นำน้ำมันกัญชาไปใช้กับผู้ป่วยโรคระบบประสาท และโรคลมชักในเด็ก ซึ่งอยู่ในระหว่างติดตามผลการรักษา
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ ได้จัดอบรมหลักสูตรการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ผ่านการอบรมแล้ว 6,000 คน และเปิดคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลในสังกัด ให้บริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการรักษาครอบคลุมกลุ่มโรคที่มีผลวิจัยยืนยันทางการแพทย์ ให้คำแนะนำและติดตาม รวมทั้งเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ นอกจากนี้ ในส่วนพยาบาลที่ต้องทำงานในคลินิกกัญชาฯ จะอบรมทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2562 นี้