การเข้ามาเก็บกวาดบ้านเมืองหลังสะสมปัญหามาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่เพียงเข้าไปบริหารจัดการด้านการเมืองความขัดแย้งของผู้คนในประเทศนี้แล้ว ยังยื่นมือเข้าไปเกือบทุกหน่วยงานซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า ทั้งเรื่องการปฏิรูปหรือพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์ให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกับเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร
โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับ นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว (ค.ส.ล.) และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าวฯซึ่งได้ตอกเสาเข็มปฐมฤกษ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเริ่มก่อสร้างในจุดที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนรุกล้ำระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และดำเนินการต่อเนื่องในจุดที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดส่งมอบพื้นที่ ซึ่งในเดือนมีนาคม 2559 มีแผนส่งมอบพื้นที่ชุมชนที่มีการก่อสร้างบ้านมั่นคงไปแล้วจำนวน 3 ชุมชน ความยาว 1,167 เมตร จากนั้นเมษายน 2559 จะคืนพื้นที่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างบ้านมั่นคงจำนวน 10 ชุมชน ความยาว 3,195 เมตร
ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างในจุดที่ไม่ติดปัญหาอุปสรรค และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมจัดทำผังที่อยู่อาศัยตลอดแนวคลองลาดพร้าว ภายในขอบเขตผังการก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร โดยให้ทำคู่ขนานระหว่างที่พักชั่วคราว ที่พักถาวร และการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนฯ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้เปิดการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์แก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองโดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะและการจัดระเบียบชุมชนริมคลอง โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561
ด้านนางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร ผู้อำนวยการกองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำและการสร้างเขื่อนริมคลองลาดพร้าวว่า รัฐบาลมีนโยบายการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ 9 คลอง โดยนำร่องที่คลองลาดพร้าว เริ่มจากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 บริเวณปากคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง ไปทางประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตรเศษ รวมความยาวของเขื่อนทั้ง 2 ฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร โดย กทม. ลงนามสัญญาจ้างกับบริษัทรับเหมาเมื่อวันที่ 14 มกราคมงบประมาณ 1,645 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 1,260 วัน
“ หากการสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวแล้วเสร็จ จะช่วยให้การระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ” ผู้อำนวยการกองระบบคลอง กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว - คลองถนน - คลองสอง) จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลโดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต คสล. ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง โดยบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ขณะที่นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง กล่าวว่า ผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดจะลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านซึ่งการรื้อย้ายชุมชนและก่อสร้างบ้านจะเริ่มในเดือนมีนาคม - เมษายนนี้ โดยจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้แก่ชาวบ้าน เช่น ที่ดินของทหารบริเวณกองพลทหารราบที่ 11 เขตบางเขน ที่ดินของรถไฟฟ้ามหานครย่านพระรามเก้า และอาคารชุดของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง ทั้งหมดนี้สามารถรองรับชาวบ้านได้ประมาณ 1,000 ครอบครัวและหากเป็นไปตามแผนงานการก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่จะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2559 นี้
อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเมื่อกระบวนการเริ่มก่อสร้างขึ้นมาจริงๆแล้ว ชาวบ้านแนวฝั่งคลองจะก่อปฏิกิริยาใดออกมาหรือไม่ จะมีคลื่นใต้น้ำที่จะกลายเป็นแรงต่อต้านมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทีมมวลชนสัมพันธ์ที่จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน และสิ่งสำคัญผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งทั้งเขื่อนที่จะผุดขึ้นกลางเมืองหลวงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนจริงหรือไม่???