นายพาสคาล ฟัวร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานทรัพย์สินอุตสาหกรรมแห่งประเทศฝรั่งเศส (INPI) ได้ให้การต้อนรับนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมคณะ ในโอกาสเยือน INPI ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพย์สินอุตสาหกรรมระหว่างไทยและฝรั่งเศส และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าอย่างกว้างขวาง โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับต้น โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการบังคับใช้สิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในการนี้ INPI ได้กล่าวชื่นชมการทำงานเชิงรุกด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย รวมถึงการดำเนินการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการนำตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยไปขึ้นทะเบียนกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกภายใต้กรอบ Article 6ter ของอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยได้รับความคุ้มครองในประเทศสมาชิกอนุสัญญากรุงปารีสฯ จำนวน 177 ประเทศทั่วโลก
โดยบุคคลใดๆ จะนำตราสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้หรือเลียนแบบโดยไม่มีสิทธิไม่ได้ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่น และยึดโยงอยู่กับพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่น โดยกรมฯ ให้ความสำคัญกับการขยายตัวของตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดทั้งสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ นำสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับความคุ้มครอง โดยขณะนี้ มีสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในไทยแล้วทั้งสิ้น 133 รายการ โดยเป็นสินค้าไทย 116 รายการ และสินค้าต่างประเทศ 17 รายการ รวมถึง แชมเปญ และคอนยัคของประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ ไทยยังมีสินค้าหลายรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครอง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศฝรั่งเศส เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง โดยหลังจากนี้ กรมฯ และ INPI จะร่วมมือกันเร่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะบทบาทของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น และช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ กรมฯ และ INPI ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร คุณภาพของสิทธิบัตร และแนวทางการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าสามมิติ โดย INPI พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับไทยในการเสริมสร้างศักยภาพและการพัฒนาระบบทรัพย์สินอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งไทยสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก INPI เกี่ยวกับการจัดทำระบบการควบคุณภาพสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น