กระทรวงพาณิชย์จัดเวทีติดอาวุธผู้ประกอบการไทยกว่า 200 ราย แนะปรับธุรกิจตามกระแสรักษ์โลก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แนวโน้มเทคโนโลยีนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมยังโตต่อเนื่อง
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนและพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ซึ่งเน้นการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และหนึ่งผลิตภัณฑ์เป้าหมายสำคัญนั้นก็คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะ “พลาสติกชีวภาพ (Bio-plastic)” ที่ยังเกี่ยวเนื่องถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) ที่เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดสัมมนา “การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” Tech Insight #3: Sustainable Material Technology Trend Analysis for Packaging ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมแนวหน้าของไทยมาให้ข้อมูลและแชร์ประสบการณ์ พร้อมชี้ทิศทางแนวโน้มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม แนวทางการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และทิศทางการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากลให้แก่ผู้ประกอบการไทย SMEs นักประดิษฐ์ นักวิจัย และประชาชนที่สนใจกว่า 200 ราย
โดยในงานสัมมนามีการหยิบยกนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมจะสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนให้ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับการรีไซเคิล รวมถึงกระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าและเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเผยแพร่รายงานบทวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนต่อไป
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย IP IDE Center พร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจรแก่ SMEs เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามารับบริการของศูนย์ IP IDE ได้ที่ ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02-547-5026 หรือสายด่วน 1368
ทั้งนี้ จากสถิติการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 – 2018 มีจำนวน 280 ฉบับ ในขณะที่คำขอรับสิทธิบัตรทั่วโลกปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 10,212 ฉบับ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณที่กระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้เพิ่มมากขึ้น