กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจงผลสำรวจการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business 2020 ของธนาคารโลก ประเทศไทยมีอันดับภาพรวมดีขึ้น 6 อันดับ โดยปี 2020 อยู่อันดับที่ 21 จากเดิมปี 2019 อยู่อันดับที่ 27 สำหรับ ‘ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ’ มีคะแนนสูงขึ้น ขยับจาก 92.30 เป็น 92.40 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงคะแนนที่สูงมาก แสดงถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติงานอย่างดีเยี่ยม ยืนยันจะพัฒนาการให้บริการด้านการเริ่มต้นธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาภารกิจทุกด้านให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกหรือ World Bank ได้ประกาศผลสำรวจการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business 2020 ภาพรวมพบว่า ประเทศไทยมีคะแนน Ease of Doing Business สูงขึ้น ขยับจาก 79.50 เป็น 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 (ปี 2019) เป็นอันดับที่ 21 (ปี 2020) และอยู่ในกลุ่ม 25 ประเทศแรกของโลกจาก 190 ประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ สำหรับตัวชี้วัดภายใต้การจัดอันดับดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ประเทศไทยมีคะแนนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยขยับจาก 92.30 เป็น 92.40 ซึ่งอยู่ในช่วงคะแนนที่สูงมาก แสดงถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติงานอย่างดีเยี่ยมของกรมฯ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดอันดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาของประเทศอื่นที่มีการพัฒนาในอัตราก้าวหน้า หรือมีการปรับปรุงแล้วเพิ่งส่งผลในปีนี้ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 47 (ปี 2019 : อันดับที่ 39) และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และบรูไน ตามลำดับ”
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “สำหรับทิศทางการพัฒนาการให้บริการของกรมฯ เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจของประเทศไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น สอดรับกับการจัดอันดับที่ดีขึ้นของ Doing Business 2021 โดยกรมฯ จะดำเนินการปรับปรุงระบบการจองชื่อนิติบุคคล ให้สามารถตรวจสอบและทราบผลการอนุมัติการจองชื่อได้ทันทีโดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็วมากขึ้น และปรับปรุงการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) พัฒนารูปแบบการกรอกข้อมูลรายการจดทะเบียนในระบบ e-Registration ให้ง่ายมากขึ้น รวมถึง เพิ่มช่องทางการยืนยันตัวตนผ่านทางเครื่องมือสื่อสารระบบออนไลน์ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมายืนยันตัวตนที่กรมฯ ประกอบกับการสร้างความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนให้นักธุรกิจรุ่นใหม่หันมาใช้ระบบ e-Registration เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจผ่านระบบ e-Registration แล้วจำนวน 24,473 ราย (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2562)”
“นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานที่จะรวมขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร และการขึ้นทะเบียนนายจ้าง-ลูกจ้างของสำนักงานประกันสังคมไว้กับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งหากเปิดให้บริการแล้วจะทำให้ภาพรวมของการจัดตั้งธุรกิจลดลงจาก 5 ขั้นตอน เหลือ 3 ขั้นตอน และใช้ระยะเวลาลดลงจาก 4.5 วัน เหลือเพียง 2.5 วัน ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจะส่งผลให้ผลการพิจารณาการจัดอันดับในปีหน้ามีอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ก่อให้เกิดแรงจูงใจและดึงดูดให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติมาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย โดยกรมฯ ยืนยันว่าจะพัฒนาระบบการให้บริการด้านการเริ่มต้นธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาภารกิจทุกด้านให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส อันจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชนได้เป็นอย่างดี”
“ทั้งนี้ รายงานผลการวิจัยเรื่อง Doing Business ถือว่ามีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศจะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง รวมทั้ง ยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ และทำให้ภาครัฐได้เห็นช่องทางในการปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพได้ชัดเจน ตลอดจนการนำตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่มีระบบที่ดีมาใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย