นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า จากการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และบัตรแมงมุมเพื่อให้ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ซึ่งพบว่า ยังมีความล่าช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกประมาณ 18 เดือน ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีแนวคิดในการเร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วมให้ได้ก่อน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งหารือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ใน 2 ประเด็นคือ
1. การปรับปรุงระบบหัวอ่าน (Reader) และระบบที่เกี่ยวข้องของแต่ละผู้ให้บริการเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของบัตรข้ามระบบได้ ว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน 2. ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเท่าไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ สรุปรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาตัดสินใจ
ทั้งนี้ หากการปรับปรุงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเปรียบเทียบกับค่าลงทุนแล้วคุ้มค่า จะเร่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นผู้บริหารรถไฟฟ้า บีทีเอส ซึ่งมีผู้ถือบัตรรถไฟฟ้ามากที่สุด รับทราบหลักการแนวทางการใช้บัตรข้ามระบบ โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
"แนวคิดนี้คือ จะให้ผู้ถือบัตรรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสาย เช่น บัตรแรบบิท ใช้ขึ้น MRT หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ ส่วน บัตร MRT Plus ของรฟม.ใช้เงิน บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ได้ เป็นต้น ไม่ต้องแยกซื้อบัตรแต่ละสาย เพราะเห็นว่า จะใช้เวลาปรับปรุงระบบเร็วกว่า"
อย่างไรก็ตาม เมื่อ รฟม.พัฒนาระบบตั๋วร่วมแมงมุม EMV เสร็จ จะเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชน ส่วนบัตรรถไฟฟ้าเดิม ทั้ง แรบบิท, MRT plus ซึ่งเป็นบัตรแบบเติมเงิน ยังใช้งานได้เหมือนเดิมอยู่ที่ความสะดวก ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการพัฒนาระบบบัตร EMV จะมีสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนบัตรรถไฟฟ้าแบบเดิม ประมาณ 30%