ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลที่ใกล้สถานที่จัดงานลอยกระทงเฝ้าระวังเหตุ หากมีผู้บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทประสานตำรวจคุมเข้มทันทีไม่ต้องรอให้เกิดเรื่อง และดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ทะเลาะวิวาทขั้นเด็ดขาด
นายแพทย์สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันลอยกระทง (11 พฤศจิกายน 2562) หลายพื้นที่ได้จัดงานตามประเพณี และการที่มีผู้คนมาอยู่รวมกันจำนวนมากอาจเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทตามมาได้ จึงกำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ใกล้สถานที่จัดงานลอยกระทง เตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุ/เจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล โดยให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ร่วมรักษาความปลอดภัย หากมีผู้บาดเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาทเข้ามารักษา ให้กันญาติออกจากห้องฉุกเฉิน หรือหากมีประตูนิรภัยให้ปิดล็อคประตูทันที พร้อมประสานตำรวจคุมเข้มไม่ต้องรอให้เกิดเรื่อง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ได้มีมาตรการความปลอดภัยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะบริเวณห้องฉุกเฉิน ดังนี้ 1.ทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ 2.จัดระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง 3.จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ จำกัดการเข้าออก 4.ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง 5.จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล 6.จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง 7.จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ยังพบการก่อความรุนแรงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อลดความรุนแรง เพิ่มความปลอดภัยเจ้าหน้าที่และผู้ที่มารับบริการ หากเกิดกรณีความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินในโรงพยาบาล ให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุทันที ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ลงโทษขั้นเด็ดขาดตาม ม.360 ม.364 และม.365 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี
“แม้เราจะมีมาตรการป้องกัน แต่คงป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ต้องขอความร่วมมือประชาชนผู้มารับบริการ รวมทั้งญาติผู้ป่วย ร่วมป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น ขอให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรงสำหรับทุกคน และที่สำคัญคือ จิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ที่ตั้งใจเข้ามาก่อเหตุและขอความร่วมมือสื่อ สื่อสังคมออนไลน์ให้เสนอผลลัพธ์การลงโทษ แทนการเสนอพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นายแพทย์สุขุมกล่าว