โครงการ “นวัตกรรมการจัดการความรู้เรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเด็กที่บกพร่องทางการเห็นสำหรับครู ผู้ปกครอง และบุคลากรสาธารณสุข” เป็นโครงการต่อยอดฐานความคิดสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 ภายหลังคณะผู้วิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จึงได้ร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เรื่อง “การพัฒนาคู่มือการให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น” คณะผู้วิจัยทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี ได้เห็นถึงความสำคัญของพัฒนาครู ผู้ปกครองและบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเด็กและนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็น โดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น ซึ่งเป็นความรู้ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาแล้ว 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้เครื่องมือนำทางคือ คู่มือการให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 10 ปี และนวัตกรรมสื่อเสียง ซึ่งคณะผู้วิจัย มีความคิดเห็นว่า องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการจัดการความรู้เรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเด็กที่บกพร่องทางการเห็นสำหรับครู ผู้ปกครอง และบุคลากรสาธารณสุข” สามารถนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะในกรอบด้านสังคม ที่เกี่ยวข้องในมิติของการแพทย์และสาธารณสุข และการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกลุ่มผู้พิการได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรรณวิภา บรรณเกียรติ นักวิจัยโครงการ เปิดเผยว่า “โครงการ “นวัตกรรมการจัดการความรู้เรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเด็กที่บกพร่องทางการเห็นสำหรับครู ผู้ปกครอง และบุคลากรสาธารณสุข” เป็นโครงการที่เสนอคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นการพัฒนาตามแผนการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2560 -2579 เป้าหมายที่ 1 การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่กำหนดว่าผู้เรียนพิการต้องได้รับการพัฒนาสมรรถภาพหรือบริการที่เหมาะสมร้อยละ 100 โดยสามารถสร้างนวัตกรรมหนังสือคู่มือการให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นเป็นตัวอักษรปกติและคู่มือการให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นเป็นอักษรเบรลล์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูโรงเรียนสอนคนตาบอด (ที่สายตาปกติ) มีความพึงพอใจต่อคู่มือฉบับนี้มากที่สามารถนำมาใช้ป้องกัน แก้ไข และส่งเสริมสุขภาพจิตและพฤติกรรมของนักเรียนตาบอด เพราะคู่มือดังกล่าวได้สร้างและพัฒนาอย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม จากสภาพความจำเป็นและความต้องการของนักเรียนตาบอดทำให้สามารถใช้ได้จริง ซึ่งคู่มือฯนี้มีเนื้อหาเติมเต็มจากเดิม โดยเฉพาะเรื่องแนวทางการให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น ซึ่งเป็นลักษณะกรณีตัวอย่าง ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น มีความมั่นใจในการดำเนินการให้การปรึกษาแก่เด็กมากขึ้น รวมทั้งการมีภาพประกอบที่สวยงาม น่าสนใจ ทำให้คู่มือฯมีความน่าสนใจและสะดวกต่อการนำไปใช้มาก สำหรับ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูโรงเรียนสอนคนตาบอด (ที่บกพร่องทางการเห็น) เชื่อว่าการวิจัยนี้และคู่มือฯนี้ แสดงถึงการศึกษาอย่างมีจริยธรรม จากกระบวนการศึกษาที่ให้เกียรติพวกเขา ยอมรับการมีเอกสิทธิ์ของครูตาบอด โดยให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเนื้อหา การให้ข้อคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ จนทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือฯ นี้ ดังนั้น นวัตกรรมการจัดการความรู้เรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเด็กที่บกพร่องทางการ เห็น สำหรับครู ผู้ปกครอง และบุคลากรสาธารณสุขจึงเป็นการวิจัยและกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้เป็นอย่างดี”
นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำ ต้นแบบในการที่จะดูแลเด็กหรือว่าการให้ความรู้เด็กหรือการส่งเสริมสุขภาพจิต ให้กับเด็กนักเรียนที่พิการทางด้านสายตา ในอนาคตจะมีการขยายผลนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือเด็กเหล่านี้อย่างเฉพาะเจาะจงตรงตามความต้องการมากขึ้น ที่สำคัญสาระเนื้อหาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนปกติได้ ตอนนี้กรมสุขภาพจิตมีนโยบายชัดเจนสำหรับสนับสนุนกลุ่มคนพิเศษหรือพิการทางด้านสุขภาพจิตกับคนพิการทุกประเภท แล้วพยายามที่จะให้องค์กรหรือชมรมหรือว่ากลุ่มของคนพิการกลุ่มต่างๆ ได้รับความรู้และสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง หนังสือคามือวิชาชุดนี้จะช่วยทำให้กลุ่มก้อนผู้พิการทางด้านสายตา นอกจากนี้
เราต้องทำการวิจัยให้มากขึ้นเพราะเป็นกลุ่มเฉพาะ คนโดยปกติแล้วจะรับรู้ว่าคนที่พิการทางการได้ยินมักจะมีความคับข้องใจมากกว่าคนที่มีอาการพิการทางด้านสายตาจากผลงานการศึกษาเก่าๆ แต่ว่าในกลุ่มของคนพิการทางด้านสายตา คงต้องไปศึกษาเพิ่มเติมอีกว่าจะมีโรคซึมเศร้า หรือว่ามีความเครียดความคับข้องใจมากกว่าหรือเท่าเทียมคนปกติ คงจะเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาขยายผลงานวิจัยต่อไป ในวันนี้มีการนำเสนองานวิจัย รูปแบบของการนำเรื่องงานทางด้านสุขภาพจิตไปช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสายตา ก็อยากให้สังคม ตระหนักและให้ความสำคัญ ไม่เฉพาะอยู่กับพื้นที่ใดหน่วยงานใด แต่ควรให้กับผู้พิการทางด้านสายตาในสังคมเราทุกๆคน เพราะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้”