ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดเล็กจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาจึงจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้ ที่ผ่านมาผู้ประอบการหลายรายได้หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านการผลิตมากขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพและประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ทันกับสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีนโยบายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถปรับตัวเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว ก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานสัมมนา Success Case และมอบโล่และเกียรติบัตรสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จกิจกรรมแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเพื่อไปสู่ Industry 4.0 (Automation for Industry 4.0 โดยมีสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาด้วยจรวด 3 ลูก (3 stage rocket approach) อันประกอบด้วย 1) Visualize Machine 2) Visualize Craftsmanship และ 3) Lean Automation System Integrator จำนวน 50 กิจการ โดยสามารถลดต้นทุนแรงงานได้มากกว่า 26 ล้านบาท/ปี ลดของเสียได้มากกว่า 12 ล้านบาท/ปี และเพิ่ม Productivity ได้ประมาณ 400 ล้านบาท/ปี
นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ได้ติดตั้งระบบให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 600 กิจการ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในกลุ่ม Machine Monitoring System ได้มากกว่า 30% คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 840 ล้านบาท และ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในกลุ่ม Visualize Craftsmanship ได้มากกว่า 20 % คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 130 ล้านบาท และมีความเชื่อมั่นว่า การดำเนินโครงการกิจกรรมแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเพื่อไปสู่ Industry 4.0 (Automation for Industry 4.0) จะเป็นแนวทางในการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการไทยในการต่อยอดพัฒนาการผลิตโดยการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับสากลต่อไป”