นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจมอบนโยบายกรมเจ้าท่า เมื่อเร็วๆ นี้ โดยตอนหนึ่งระบุถึงติดตั้งระบบการสื่อสารควบคุมจราจรทางน้ำ (VTS) ว่า เหลือติดตั้งบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนล่าง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท โดยแปรญัตติขอกับคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้ได้ภายในปี 2563 นี้ เพื่อยกระดับการจัดการจราจรทางน้ำและสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว และให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ปรับใช้กับงานของกรม ถ้าส่วนไหนไม่มีงบประมาณให้ขอทางเอกชนเชื่อมเข้ากับซอฟ์ตแวร์ของกรม บูรณาการใช้ประโยชน์ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงต้องกลับไปดูกฎหมาย กฎระเบียบของกรมว่ามีอะไรต้องปรับปรุงให้ทันสมัย และตอบสนองกับสภาวะในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้กลับไปดูโครงการลงทุนในท่าเรือต่างๆ เช่น ท่าเรือสงขลา 2 ซึ่งถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่า หากเริ่มดำเนินการท่าเรือสงขลา 2 ได้ ทางฝั่งอันดามัน คือท่าเรือปากบารา ก็น่าจะดำเนินการได้ตามมา
“ผมให้รื้อแผนขึ้นมาดูภายในปีนี้เลย แล้วลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ เชื่อมฝั่งตะวันออก-ตะวันตก จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยให้กรมฯ โครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปลุกปั้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ในสมัยผมอย่างน้อย ท่าเรือสงขลา 2 จะต้องเกิดให้ได้ ส่วนวิธีดำเนินการมีหลายวิธี ใช้เงินกองทุน หรือ PPP แต่ต้องนำผลศึกษามาตรวจสอบใหม่ก่อนว่า ที่ผ่านมาติดขัดประเด็นอะไร” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ด้านนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าที่ขนส่งจากภาคกลางและภาคใต้ไปยังด่านประกอบ ด่านนอกไทยจังโหลน และด่านสะเดา จ.สงขลา มีมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี จึงเห็นศักยภาพที่จะพัฒนาท่าเรือสงขลา 2 เป็นท่าเรือน้ำลึก ซึ่งการทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยโครงการเดิมที่ศึกษาไว้ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา แม้ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจะผ่านการประชาพิจารณ์ไปแล้วรอบหนึ่ง แต่เป็นการผ่านที่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ดังนั้น กระทรวงจึงเห็นว่า ควรจะศึกษาใหม่
โดยตนจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่า โครงการนี้มีส่วนช่วยเกษตรกรอย่างไร และช่วยลดภาระพ่อค้าคนกลางอีกด้วย ส่วนสิ่งแวดล้อม ได้ประสานงานกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตรวจสอบตามมาตรฐานรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งตอนนี้ก็ได้ริเริ่มพูดคุยกับประชาชนแล้ว