ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะเข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนบัณฑิตแรงงานจังหวัดชายแดนภายใต้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามาน จ.นราธิวาส กลุ่มอาชีพกรงนก จ.สงขลา กลุ่มย่านลิเภา จ.ปัตตานี กลุ่มทำกริช (รามันห์) กลุ่มว่าว วาบูลัน จ.ยะลา นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงให้การต้อนรับ พร้อมทั้งรายงานสรุป วัตถุประสงค์และผลการดำเนินการงานต่างๆ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากนำบัณฑิตแรงงานจากสามจังหวัดชายแดนภายใต้และสี่อำเภอจังหวัดสงขลา เข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า บัณฑิตแรงงานมีหน้าที่ในการสนับสนุน ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้ประชาชนมีอาชีพ เพิ่มรายได้ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ บัณฑิตแรงงานดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล เป็นผู้นำข้อมูลด้านแรงงานไปสู่ประชาชน และนำข้อมูลจากพื้นที่สู่หน่วยงาน จำนวน 468,915 ครัวเรือน จำนวนประชากร 1,786,936 คน ด้านแรงงาน ให้ประชาชนมีอาชีพ เพิ่มรายได้มีสวัสดิการ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ผลการดำเนินงาน (2556-2562) การให้บริการตามภารกิจกระทรวงแรงงาน รวม 459,905 คน แบ่งเป็น ด้านจัดหางาน 37,732 คน ด้านการฝึกอาชีพ การพัฒนาทักษะ 352,196 คน ด้านการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ 4,407 คน ด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 65,570 คน ด้านความมั่นคง เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจเชิงบวก ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีผลการดำเนินงาน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งกลุ่มอาชีพ โครงการสำนึกรักบ้านเกิดร่วมใจพัฒนาชุมชน โครงการศูนย์แรงงานอำเภอเคลื่อนที่ให้บริการด้วยรอยยิ้มสู่ชุมชน และโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสุขภาวะในการทำงานแก่แรงงานนอกระบบ คนพิการ แรงงานสูงอายุ ด้านความยั่งยืน ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานที่ให้บริการแก่ประชาชน และการนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพ
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อไปว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปมะพร้าวบ้านทอนอามาน เป็นผลงานการคัดเลือกและประสานกลุ่มของของบัณฑิตแรงงาน ในการเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตแรงงาน สู่ SME 4.0 ปี 2562 โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้คำแนะนำและฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิคการปรับปรุงระบบและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อผลิตภาพแรงงาน ซ่อมบำรุงเครื่องจักรในการอบมะพร้าว ปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ส่งผลให้สามารถเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ 76.19 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 115,200 บาทต่อปี ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต 83.33 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 661,500 บาทต่อปี ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์มะพร้าวมีคุณภาพ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล
“ปัจจุบันบัณฑิตแรงงานมีจำนวน 380 คน แบ่งเป็นจ.ปัตตานี 135 คน จ.ยะลา 76 คน จ.นราธิวาส 111 คน และ 4 อำเภอ (อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) สงขลา 58 คน เป็นผู้ที่จบป.ตรีและสมัครใจที่จะทำงานให้กระทรวงแรงงานในการขับเคลื่อนภารกิจเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บัณฑิตแรงงานได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนๆ ละ 15,000 บาท และเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33”