ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า นำคณะผู้บริหาร และผลงานของดิจิทัลสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร (AgTech) 4 รายเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลของแต่ละบริษัท และประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ พร้อมร่วมพูดคุยกับเกษตรกรตัวจริงที่ได้ทดลองประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการเกษตรจนเกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง ตลอดจนควบคุมผลิตผล ก่อเกิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย
1.Tevada Corp (บริษัท เทวดา คอร์ป จำกัด) ผู้ให้บริการจัดการโดรนเพื่อลดต้นทุนการเกษตร นำโดรนเพื่อการเกษตรมาจัดแสดง พร้อมนำเสนอรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่ โดรนด้านการเกษตร ประกอบไปด้วย โดรนสำหรับฉีดพ่นสารเหลวแบบต่างๆ โดรนหว่านเมล็ดพืช โดรนหว่านข้าว โดรนหว่านปุ๋ยชนิดเม็ด เพื่อทุ่นแรง และลดการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงของเกษตรกร
2.Komomi (บริษัท โคโมมิ จำกัด) ผู้ให้บริการด้านการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยเฉพาะ IoT มาปรับใช้ในการดูแลผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและเหมาะสม สามารถควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชไร่ ทั้งอุณหภูมิ/ความชื้น แสงสว่าง ปริมาณน้ำ และปุ๋ยให้เหมาะสมได้ผ่าน Smart Device ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้นำระบบน้ำเพื่อการเกษตรอัจฉริยะมานำเสนอพร้อมสาธิตวิธีการทำงาน
3.Ling (บริษัท ทริพเพิล ไอ จีโอกราฟฟิก จำกัด) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประมวลข้อมูลเชิงเกษตรได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากโดรนสำหรับถ่ายภาพและนำมาประมวลผล มุ่งเน้นการพิกัดแผนที่ ซึ่งนำมาซึ่งข้อมูลสำคัญที่สามารถประกอบการตัดสินใจของเกษตรกรในการบริหารไร่นาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลด้านสถิติการเจริญเติบโต หรือการสูญเสียของพืชในบริเวณต่างๆ ของที่นา เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบและหาทางแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น
4.Cropperz ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มประกวดราคาผลผลิตทางการเกษตร (e-bidding Platform for Agriculture) โดยได้นำเสนอวิธีการใช้งาน Platform Matching สำหรับผู้ซื้อและผู้ขายที่จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาด และช่วยยกระดับภาคธุรกิจให้สามารถพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพ ควบคุมราคา และปริมาณได้ตรงตามความต้องการของตลาด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตรในครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2562 โดยในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ร่วมพูดคุยกับดิจิทัลสตาร์ทอัพและนักพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ได้เห็นมุมมองและแนวคิดที่จะเป็นทิศทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การบริการภาคดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลของรัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำพาประเทศสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการคือการร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดจนคนรุ่นเก่าให้เปิดรับเทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจและคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์
ด้าน ดร.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 4 รายที่มาร่วมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้มาตรการส่งเสริมของดีป้า โดยเทคโนโลยีที่นำมาแสดงในวันนี้คือเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร (AgTech) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีหลักที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน ยังมีเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ (GovTech) และเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) ที่จะทยอยนำมาแสดงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย ที่พร้อมต่อยอดสู่สากลโดยคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพของประเทศ