ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
วิกฤติหมูจีน …. โอกาสหมูไทย
30 ม.ค. 2563

คอลัมน์ : โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 

วิกฤติหมูจีน …. โอกาสหมูไทย

ด้วยความที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน จีนจึงเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อสัตว์มากที่สุดในโลก ขณะที่สถิติการบริโภคเนื้อสัตว์ ชาวอเมริกัน 115 กิโลกรัม/คน/ปี ชาวจีน 61.8 กิโลกรัม/คน/ปี โดยชาวจีนนิยมบริโภคเนื้อหมู 62% เนื้อไก่ 22% เนื้อวัวเนื้อแพะ 8%

กล่าวเฉพาะเนื้อหมู ชาวจีนบริโภค 55 ล้านตัน/ปี ผลิตได้ 54 ล้านตัน/ปี จึงมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อชดเชยส่วนที่ขาด แต่ในเดือนช่วงสิงหาคมปี 2018 เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ( ASF) ระยะเวลาแค่ 3 เดือน สุกรจีนตายไปมากกว่า 300 ล้านตัว จากปริมาณการเลี้ยงทั้งประเทศปีละ 580 ล้านตัว ทำให้เกิดวิกฤติเนื้อหมู ราคาเนื้อหมูสดจากปกติกิโลกรัมละ 25 หยวน (125บาท) พุ่งทะยานขึ้นเป็น 50 หยวน (250บาท) และยิ่งแพงในช่วงตรุษจีนปี 2020 ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อหมูแช่แข็งของรัฐบาลอยู่ที่ 30-40 หยวน/กิโลกรัม

          ช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2019 จีนนำเข้าเนื้อหมูประมาณ 1 ล้านตันจาก สเปน เยอรมนี บราซิล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

จีนเป็นประเทศเดียวที่มีการสำรองเนื้อสุกรตั้งแต่ปี 2007 เมื่อเกิดวิกฤติดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องนำเนื้อหมูแช่แข็งสำรองออกสู่ตลาดเพื่ออบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ยังไงก็ไม่เพียงพอ ถึงขนาดต้องรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคเนื้อหมูน้อยลง ให้ตัดเนื้อหมูออกจากรายการอาหารที่คุ้นเคย และถึงขั้นต้องกำหนดให้ประชาชนซื้อเนื้อหมูสดได้คนละไม่เกิน 2 กิโลกรัม ตอนนี้เหลือแค่ 1 กิโลกรัม (แต่เนื้อหมูแช่แข็งของรัฐบาลให้ 2.5-5 กิโลกรัม)

ทางการจีนยอมรับว่า อัตราการผลิตเนื้อหมูในจีนยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในปี 2020 แม้จะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสุกรแล้ว ปี 2019 จีนประกาศนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมสุกรเป็นภารกิจเร่งด่วน มี 18 มาตรการ มีแผน 3 ปีที่จะนำอุตสาหกรรมสุกรของจีนกลับสู่ภาวะปกติ

วิกฤติหมูจีนเป็นโอกาสของหลายประเทศที่ผลิตเนื้อปศุสัตว์ เนื้อไก่จาก 27 โรงงานของไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ประสบความสำเร็จมากในการส่งไปขายจีน ปี 2019 ที่ผ่านมา คาดว่าไทยส่งไก่ไปขายจีนได้ 5 หมื่นตัน ปี 2020 คาดว่าจะเพิ่มถึง 8 หมื่นตัน

 “ฮ่องกง” เขตปกครองของจีนเดิม สั่งซื้อเนื้อหมูจากจีนแผ่นดินใหญ่ 90% เมื่อเจอวิกฤติต้องหันมานำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับมาตรฐานส่งออก ส่ง “สุกรซีกแช่เย็น” เข้าไปขายได้ราคาดีมาก  ตลอดปี 2019 คาดว่าส่งได้สูงถึง 2,500 ตัน และยังคงจะไปได้ดีอีก 2 ปี จนกว่าจีนจะสามารถแก้ไขโรค ASF ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้จีนตอนใต้ มีโอกาสที่จะส่งเนื้อปศุสัตว์แก่ผู้บริโภคชาวจีน เนื้อไก่เจาะตลาดได้แล้ว ทำอย่างไรจะส่งได้มากยิ่งขึ้น เนื้อวัวต้องส่งผ่านลาว ผ่านกระบวนการด่านกักโรค แล้วค่อยเชือดชำแหละสู่ตลาดจีน แต่ก็ยังเป็นการค้าแบบ “เทาๆ” ที่ต้องอาศัยจมูกคนอื่น ครั้นจะส่งหมูผ่านลาวไปจีน ก็อาจจะได้แต่หมู คงไม่อึดแบบวัวในการขนส่งระยะไกล และการค้าระหว่างประเทศแบบโปร่งใสถูกต้องตามระเบียบกฎหมายย่อมยั่งยืนในระยะยาว

         ก่อนหน้านี้เห็นข่าวนายประภัทร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตีฆ้องร้องป่าวจะส่งหมูไทยไปขายจีน 1ล้านตัว การจะทำได้เช่นนั้น จำเป็นต้องยกระดับฟาร์มหมูไทยสู่มาตรฐาน GAP ปลอดโรค ปลอดภัย สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค

        ไม่เพียงเท่านั้น ภารกิจนี้รัฐบาลต้องเล่นเป็นทีมทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ในการเจรจาหน่วยงานต่างๆ ของจีน จนถึงระดับรัฐบาลจีที่จะเปิดตลาดให้หมูไทย

          อยู่ใกล้จีนเห็นตลาด เห็นความต้องการ เห็นเม็ดเงินลอยอยู่ตรงหน้า รัฐบาลไทย พ่อค้า และเกษตรกร ต้องจับมือกันทำงานอย่างจริงจังจึงประสบความสำเร็จ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...