นายอธิรัตน์ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วย นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อำนวยการ กทท. สายวิศวกรรม ร้อยตำรวจตรี ธาณิน รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารทรัพยากรบุคคลและบรรษัทภิบาล นายอังกูร ล้วนประพันธ์ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นางอัฌนา พรหมประยูร นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. ผู้บริหาร และพนักงาน กทท. ให้การต้อนรับ ในวันที่ 31 มกราคม 2563 ณ กทท. โดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร กทท. สรุปได้ดังนี้
1. ให้ กทท. สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในระบบคัดกรองโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในทุกด้านการขนส่งของกระทรวงฯ โดยเฉพาะด้านการขนส่งทางน้ำ โดยได้มอบให้ กทท. ดำเนินการจัดตั้งจุดคัดกรองทุกท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ให้ประสานกรมควบคุมโรคเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจเรือทุกลำ ทุกสัญชาติ และให้เรือทุกลำรายงานการเทียบท่าย้อนหลัง จำนวน 10 ท่า เพื่อเฝ้าระวังในระยะฟักตัว ซึ่ง กทท. มีมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าว สำหรับเรือสินค้าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง (ที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน) ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations (IHR) 2005) ในทุกช่องทางเข้า - ออกระหว่างประเทศของ กทท. ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจุดคัดกรองของ ทกท. มี 1 จุด คือ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ หากพบเรือที่มีปัญหาจะไม่อนุญาตให้เข้ามายัง ทกท. ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ตรวจเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับ ทชส. ทชข. และ ทรน. มีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศช่วยกำกับดูแลและป้องกันการแพร่บาดของเชื้อไวรัสในพื้นที่เขตท่าเรือ โดยมีการตรวจคัดกรองทุกวัน
2. การแก้ไขปัญหาลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้มอบให้ กทท. เร่งดำเนินการเพิ่มจุดฉีดพ่นละอองน้ำโดยเฉพาะทุกประตูเข้า – ออก พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์การฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มเติม และจัดหารถโมบายฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณชุมชนรอบ กทท. เพื่อช่วยเหลือสุขภาพของชาวชุมชน และพนักงาน กทท. ทุกคน ทั้งนี้ กทท. ได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังควบคุมฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 บริเวณพื้นที่ ทกท. ฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ ทกท. และ ทลฉ. ดูดฝุ่นและล้างถนน ภายในบริเวณ ทกท. ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ตรวจวัดควันดำของรถบรรทุกที่ผ่านเข้า – ออกพื้นที่ ทกท. และ ทลฉ. ดำเนินการเปลี่ยนรถเครื่องมือทุ่นแรงเป็นระบบไฟฟ้า ดับเครื่องยนต์รถเครื่องมือทุ่นแรงเมื่อไม่ได้ใช้งาน
3. ให้ กทท. เร่งดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community ซึ่งปัจจุบัน โครงการจ้างเหมาสำรวจประชากรชุมชนคลองเตย 26 ชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจประชากรชุมชนคลองเตย การจัดทำ Master Plan สำหรับการรื้อย้ายชุมชน การออกแบบ Detail Design และ EIA อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง TOR ทั้งนี้ ได้มอบให้ กทท. ดำเนินการคู่ขนานระหว่างการออกแบบ Detail Design และ EIA รวมทั้งเพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของชาวชุมชน จำนวน 12,000 ครัวเรือน จากเดิมลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนโดยตรง เพิ่มเป็นช่องทางออนไลน์ ให้ครบทุกครัวเรือนภายใน 3 เดือน ซึ่งมีแนวทางให้กับชาวชุมชน ประกอบด้วย 1) ย้ายเข้าอยู่อาศัยในอาคารชุด Smart Community 2) ย้ายไปพื้นที่ว่างเปล่าโดยให้ที่ดินหนองจอกเป็นกรรมสิทธิ์ และ 3) การรับเงินชดเชย จำนวน 560,000 บาท เพื่อกลับภูมิลำเนา
4. ให้ กทท. พิจารณาแนวทางการพัฒนาเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สิน และอัตราค่าเช่าสินทรัพย์ให้เหมาะสม ให้เกิดมูลค่าและประโยชน์