นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... หรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ใช้บังคับ จนถึงวันที่ 30 ธ.ค.63
โดยกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ลงเหลือ 10% เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ และมีการใช้บริการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
“กระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาการสูญเสียรายได้ของรัฐจากการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เพียง 4 ล้านบาท แต่จะเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้มีการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นการจูงใจให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคทรัพย์สินที่ใช้สำหรับประกอบอุตสาหกรรม 4.0 อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ระบบ AI Automation Robotic ให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษาของรัฐ หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ทั้งนี้ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม 4.0 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 3 เท่าของที่จ่ายจริง และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับส่วนที่จ่ายไปเพื่อทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับออุตสาหกรรม 4.0 โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการบริจาคทรัพย์สินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563
อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่า มาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นแรงจูงให้เกิดการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ประมาณ 600 ล้านบาท และกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรการภาษีดังกล่าว จะมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณ 120 ล้านบาท แต่จะเกิดการส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรของประเทศให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ