“ศักดิ์สยาม” เผย ครม อนุมัติร่างสัญญาขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ยุติข้อพิพาท ทั้งหมด 17 คดี ระหว่าง กทพ.-บีอีเอ็ม เตรียมรายงานบอร์ดฯรับทราบต่อไป ย้ำถ้าไม่เดินหน้าทำวันนี้ เสียหายนับแสนล้าน
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติร่างสัญญายุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโดยสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ช่วงรัชดาฯ-พระราม9 ส่วน B ช่วงพญาไท-บางโคล่ และส่วน C ช่วงแจ้งวัฒนะ-รัชดาฯ จะสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2578
ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2570 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 กันยายน 2569 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 โดยมีเงื่อนไขให้ยุติข้อพิพาทระหว่างกันและถอนฟ้องคดี 17 คดีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าหนี้ 78,908 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเร่งขยายอายุสัมปทานให้ BEM เนื่องจากจะสิ้นสุดอายุสัมปทานวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ และหากปล่อยให้หมดอายุสัมปทาน จะต้องประมูลหาผู้ให้บริการรายใหม่ จึงไม่สามารถทำสัญญาขยายอายุสัมปทานได้ ขณะที่มูลค่าหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับ BEM ไม่ได้ยุติ และดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นหากปล่อยให้หมดอายุสัมปทานตามเดิม รัฐจะต้องจ่ายเงินให้กับ BEM รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 300,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอมติ ครม.จากเลขา ครม.แจ้งไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งไปที่คณะกรรมการ บอร์ด กพท. เมื่อบอร์ดรับทราบมติ ครม.ก็เข้าสู่กระบวนการยื่นเรื่องไปที่ศาลฯและอนุญาโตตุลาการเพื่อถอนฟ้องทุกคดีหลังจากนั้นจะนัดเซ็นสัญญาต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสำหรับข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินคดี มี 11 คดี จากทั้งหมด 17 คดี โดยมี 6 คดีที่มีผลตัดสินแล้ว ซึ่ง BEM ชนะ 3 คดี ที่เป็นประเด็นการสร้างทางแข่งขัน รวมเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีแรก BEM ชนะคดี 4 พันกว่าล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ส่วนประเด็นการไม่ให้ปรับค่าผ่านทาง กทพ.แพ้ 2 คดี ขณะที่ประเด็นอื่น กทพ.ชนะ BEM คิดเป็นวงเงิน 491 ล้านบาท
“หากไม่ดำเนินการใดๆในวันนี้ 11 คดีที่เหลือคาดว่าจะใช้เวลากว่าจะได้ข้อยุติในปี 78 โดยประเมินว่าจะมีค่าเสียหายประมาณ 3 แสนล้านบาทบวกดอกเบี้ย ดังนั้นครม.จึงให้เจรจากับ BEM โดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ให้แลกเป็นระยะเวลาสัมปทานแทน”
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานทางด่วนใกล้จะสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2563 หากสิ้นสุดสัญญาจะไม่สามารถเจรจาได้ และต้องเปิดประมูลใหม่ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และต้องให้ทั้งสองฝ่าย กทพ. และ BEM ดำเนินการถอนฟ้องทั้งที่อยู่ในชั้นที่มีชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด ที่คาดใช้เวลา 5-7 วัน
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. กล่าวว่า การระงับข้อพิพาทครั้งนี้ ยังกำหนดการจ่ายผลตอบแทนตามเดิม คือ แบ่งสัดส่วนรายได้ให้ กทพ. 60% และ 40% ให้ BEM ในสัญญา A B C และ D ส่วนสัญญา C+ BEM ได้ค่าตอบแทนทั้ง 100% และ ตามแนวทางการขยายอายุสัญญาสัมปทานได้กำหนดให้ BEM สามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท แต่จะปรับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวคือปี 2571 หรือขึ้นค่าผ่านทาง 10 บาท ส่วนอีก 5 ปี 8 เดือนไม่ให้ปรับขึ้น