“ศักดิ์สยาม” บุก สนข. ชี้แผนโลจิสติกส์ 4 มิติต้องทันสมัย สร้างความเข้าใจให้ประชาชน เน้นกระจายความเจริญ-ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ด้าน สนข.จ่อคลอด TIA คุมมาตรฐานจราจรโครงการขนาดใหญ่ ชง คจร.เคาะเงื่อนไขให้หน่วยงานกำกับใน 3-6 เดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเดินทางเข้าเยี่ยมเยือนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อไม่นานมานี้ว่า ว่า ได้เน้นย้ำไปหลายประเด็น ในเรื่องของการพัฒนาโลจิสติกส์ 4 มิติ (บก น้ำ อากาศ ราง) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้ให้ สนข.ไปอัพเดตข้อมูลให้ทันสมัย และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ การกำหนดตัว KPI ต้องชัดเจน และต้องอธิบายผลกระทบหรือผลตอบแทนต่างๆ ให้รูปธรรมชัดเจนกับประชาชน และต้องดูว่าในการใช้พื้นที่ก่อสร้างต่างๆ จะต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่ได้แค่ค่าเวนคืนแล้วจบ ต้องบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ถูกกระทบดีขึ้น
รวมถึงต้องกระจายการพัฒนาไปยังภูมิภาคต่างๆ ไม่ควรให้เกิดการกระจุกตัวในจุดเดิมๆ และต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการจราจร เช่น โดรน หรือเทคโนโลยี UAV (อากาศยานไร้คนขับ) มาช่วย ซึ่งจะเป็นทั้งพาหนะและเครื่องมือในการตรวจสอบและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร จึงได้สั่งให้ สนข.เร่งศึกษาแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงต้องแก้ปัญหาทุกวัน ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ควรที่จะทำก่อนที่เทศกาลสงกรานต์จะมาถึง
“แม้ สนข.จะมีขนาดไม่ใหญ่ พนักงานน้อย แต่ภารกิจที่ทำใหญ่ ดังนั้น จะต้องกล้าที่จะขอรับการสนับสนุน กระทรวงเองไม่ว่าจะผมหรือท่านปลัด (ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ) พร้อมผลักดันทันที ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ผมให้กำลังใจ”
สำหรับโครงการใหญ่ต่างๆ สนข.ได้รายงานว่า นอกจากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ต่อไปจะต้องพิจารณา “มาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร” (EIA) แต่กำชับเพิ่มไปว่า ถ้าจะต้องทำจริงๆ ต้องมีความชัดเจนของข้อมูลที่จะศึกษาและกรอบเวลา แต่ยังไม่บัคับใช้เร็วๆ นี้ เพราะยังอยู่ระหว่างศึกษา และจะต้องเสนอต่อไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้ความเห็นชอบ คาดว่าภายใน 3-6 เดือนนี้ ซึ่งมาตรฐานนี้ไม่ได้ควบคุมแค่ถนนหรือราง แต่กินความถึงโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการที่จะมีผลกระทบกับการจราจร ส่วนในรายละเอียดต้องรอ สนข.ศึกษาก่อน
ทั้งนี้ ได้กำชับไปแล้วว่า จะต้องศึกษาให้ดีและรอบคอบ ส่วนจะกดดันตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ คิดว่าไม่ เพราะผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาอาจจะพิจารณาไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้มันดีขึ้นและละเอียดรอบคอบขึ้น ส่วนมาตรฐาน TIA นี้จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการหน่วยงานใด ขึ้นอยู่กับมติและความคิดเห็นเพิ่มเติมของ คจร. แต่หากให้กระทรวงเป็นผู้กำกับดูแล ก็มีเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า เรื่องนี้ สนข.ศึกษามาประมาณ 1 ปีแล้ว ไม่ใช่การเพิ่มเงื่อนไข แต่เป็นการช่วยกันดูแลปัญหาจราจร ซึ่งเดิมมีประกอบใน EIA อยู่แล้ว เพียงแต่เอามาทำให้ครบมากขึ้น และเป็นการปิดช่องโหว่ที่ EIA ครอบคลุมไม่ถึง และยืนยันว่าไม่ทำให้เกิดภาระและเงื่อนไขในการอนุมัติโครงการ ตรงข้ามจะทำให้การอนุมัติโครงการต่างๆ เร็วขึ้นด้วย เพราะเป็นการทำคู่ขนาน EIA และทำให้สมบูรณ์มากขึ้น