กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สํานักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) จัดงานเสวนา “โอกาสของ EV BUS ประเทศไทย” และการแถลงข่าว “การพัฒนารถบัส ไฟฟ้า EV BUS ฝีมือคนไทย” เพื่อนําเสนอแง่มุมทางเทคนิคของผลงานรสบัสพลังงานไฟฟ้า และโอกาสของ EV BUS ในประเทศไทย ซึ่ง สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สํานักพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าหรือวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) ให้การสนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทย และบริษัท ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ จํากัด ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการผลิตต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าแบบโครงสร้าง โมโนค็อก (Monocoque) ชนิดใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จเร็ว (Pure Electric Vehicle; Quick Charge battery) ให้แก่บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จํากัด (THAI ELECTRIC VEHICLE CO.,LTD. - TEV) ที่ต้องการผลิตรถบัสไฟฟ้า รองรับความต้องการภายในประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความต้องการของคนเมืองในปัจจุบัน และอนาคต เหมาะสมต่อการบริการขนส่งมวลชนของประเทศไทยในทุกฤดูกาลจนสําเร็จ โดยมี นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมไบรท์ตัน บางนา กรุงเทพฯ
นางวนิดา ผอ.สส. กล่าวว่า กระทรวง อว. จัดทำโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรด้วยกระบวนการวิศวกรรม เพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า หรือโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการให้คําปรึกษาและการอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสํานักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สํานักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC (สวทช.) ผลักดันผลงานมานานกว่า 10 ปี และได้รับความร่วมมืออันดีกับกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายของสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในการนําเอาผลงานจากโครงการไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ หนึ่งในผลงานจากสมาคมเครื่องจักรกลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ประสบผลสําเร็จ มีศักยภาพในการขยายผล พร้อมส่งมอบสู่การใช้งาน นั่นคือ รถบัสไฟฟ้า ที่พัฒนาขึ้นด้วย ความสามารถของสมาคมเครื่องจักรกลไทย, บ.ไทยเซ็นทรัลเมคคานิคส์ฯ และบ.ไทยยานยนต์ไฟฟ้าฯ
สำหรับการดําเนินโครงการดังกล่าว เริ่มต้นศึกษาจากรถบัสไฟฟ้าต้นแบบของ TEV ที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการทํา ข้อตกลงความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและประกอบรถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้าง Monocoque จากต่างประเทศ เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับประเทศไทย สำหรับการจัดหา-จัดส่ง อุปกรณ์มาตรฐานหรือบางชิ้นส่วนที่สําคัญ ไทยไม่สามารถทําได้หรือยังไม่คุ้มค่ากับการทำ จึงดำเนินการส่งวิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้าและควบคุม รวมถึงช่างฝีมือ เข้ารับการฝึกอบรมทางวิชาการ และแบบ On the job training เพื่อให้ได้รับประสบการณ์จริงในกระบวนการผลิตรถบัสไฟฟ้า จากสถานที่ปฏิบัติงานจริงในโรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ไทยพัฒนาได้ทันตามความต้องการ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในขั้นตอนการดําเนินงาน สามารถทําการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไปในอนาคตได้ เมื่อผู้ผลิตสามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิตได้จนเป็นที่ยอมรับ จะทําให้เกิดความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมไทยที่สมบูรณ์ขึ้น
ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมผ่านโครงการนี้ สามารถนํามาประยุกต์ใช้ได้ทั้งการคํานวณ การวิเคราะห์ เพื่อการออกแบบ ผลิต ประกอบติดตั้งชิ้นส่วนสําคัญ เช่น โครงสร้าง แบบ Monocoque ระบบส่งกําลังขับเคลื่อน ระบบควบคุม ระบบรองรับน้ำหนักและกันสะเทือน ระบบบังคับ เลี้ยว ระบบแบตเตอรี่พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ ระบบระบายความร้อน การประกอบเซลล์และโมดูลการออกแบบ เป็นต้น ให้จัดวางได้ในตําแหน่งที่เหมาะสมกับขนาดรถและสอดคล้องตามการใช้งาน รวมถึงเกิดสมดุลในด้านพลศาสตร์ยานยนต์ นอกจากนี้ ยังใช้จัดทําข้อมูลรายละเอียดและจําแนกออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์สถานะ การติดตามความก้าวหน้า การจัดทําแผนการผลิตและประกอบรถ แผนการจัดซื้อ-จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ครบถ้วนสอดคล้องตามแผนงาน รวมถึงใช้ในการประกอบตัวถังรถ อุปกรณ์ตกแต่ง และอุปกรณ์อํานวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในรถ
สําหรับความสําเร็จของโครงการฯ ก่อเกิดประโยชน์มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการไทย ประชาชนไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รถบัสไฟฟ้าแบบโครงสร้าง Monocoque ที่ออกแบบวางแบตเตอรี่ไว้ บนหลังคารถนี้ นอกจากไม่ก่อฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศแล้ว ยังเป็นยานพาหนะที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ สามารถนํามาใช้ในการขนส่งในชั่วโมงเร่งด่วนได้ดี ผจญกับปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายได้ดี เนื่องจากรถที่นําเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหลาย มีการออกแบบวางแบตเตอรี่ไว้ด้านล่างและท้ายรถ ซึ่งเสี่ยงต่อเหตุการณ์น้ำท่วมถึงหรือกระเซ็นเข้าถึง
นอกจากนี้ ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้มาจากการดําเนินโครงการฯ ช่วยส่งเสริม สนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ รวมทั้งภาคบริการด้านยานยนต์ภายในประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการผลิตได้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบการไทย ทั้งต้นทุนการผลิตที่สามารถเสนอราคาขายได้ในราคาที่ต่ำลง สามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งต่างประเทศได้ง่าย สามารถผลิตออกจําหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในประเทศ นอกจากช่วยลดการนําเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกิดธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่องในประเทศได้ไวขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต