คมนาคมเตรียมเร่งรัดใช้จ่ายงบฯ 2563 ต้น มี.ค. ประมูล 86 โครงการภาครัฐ ทางด่วน รถไฟฟ้า ทางคู่ สนามบิน ปั๊มเงิน 3.4 แสนล้านหมุนเข้าระบบ กระชากเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้แล้ว จะเร่งรัดดำเนินการทันที ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดบริหารสัญญาโครงการใหญ่ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 2 ปี รูปแบบเดียวกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา แบ่งก่อสร้าง 40 สัญญา และให้ตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาและข้อกำหนดการจ้างสัญญาหรือทีโออาร์ให้รอบคอบ พร้อมทั้งระบุการใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น 50% ระยะเวลาเบิกจ่ายที่เหลืออีก 6-7 เดือน จะเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเบิกจ่ายให้เสร็จตามเป้าก่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ”
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในปี 2563 มีโครงการสำคัญต้องเร่งผลักดัน จำนวน 86 โครงการ อาทิ ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท ได้ผู้ชนะประมูล งานโยธา 4 สัญญาแล้ว เซ็นสัญญาไปแล้ว 2 สัญญา ยังเหลืออีก 2 สัญญา, รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 124,959 ล้านบาท รอประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนและเตรียมประมูล, สายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 142,789 ล้านบาท จะประมูล มิ.ย.นี้
สายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางวงเงิน 23,417 ล้านบาท ได้แก่ รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช, รถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท รองบฯปี 2563 จ้างที่ปรึกษาจัดประมูลและเวนคืนที่ดิน, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 1,360 ล้านบาท จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP จะขออนุมัติเดือน มิ.ย.นี้, รันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 21,795 ล้านบาท ทาง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กำลังเปิดประมูล
ขณะที่นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงทยอยประมูลโครงการใหม่ในปี 2563 แล้ว ทั้งโครงการใหญ่ผูกผัน 3 ปี จำนวน 106 โครงการ วงเงิน 80,000 ล้านบาท และงานย่อย จำนวน 4,196 โครงการ วงเงิน 40,904 ล้านบาท โดยงานใหญ่จะทยอยเบิกจ่ายตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ ส่วนงานย่อยซึ่งใช้เวลาสร้างปีเดียว จะให้เซ็นสัญญาครบทุกงานในเดือน เม.ย. และเร่งให้เสร็จในเดือน ก.ย.นี้
โดยกำชับให้เมื่อเซ็นสัญญาแล้ว ขอความร่วมมือให้ผู้รับจ้างเบิกเงินล่วงหน้า 15% ทุกโครงการ และเร่งเบิกเงินงวดแรกอีก 5% โดยเร็ว หากโครงการไหนทำงานได้เร็วกว่าแผน จะนำเงินจากโครงการที่ทำได้ช้ากว่าแผนมาเบิกจ่ายให้ก่อน เพื่อเบิกเงินให้ได้มากที่สุด”
ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมเตรียมความพร้อมรอ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 มีผลบังคับใช้ จะเร่งประมูลโครงการลงทุนขนาดเล็ก 3,000-4,000 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาทให้เสร็จ คาดว่าจะประมูลในเดือน มี.ค. และได้ตัวผู้รับจ้างเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ จากนั้นสัญญาเริ่มก่อสร้างทันทีและแล้วเสร็จทันเดือน ก.ย.นี้แน่นอน โดยปีนี้มีโครงการใหญ่แค่ 2 โครงการ ที่เหลือเป็นงานย่อย มูลค่า 10-20 ล้านบาทจะทำให้การเบิกจ่ายลื่นไหลมากขึ้น”
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีก่อสร้าง ถ.สาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ วงเงิน 434 ล้านบาท และก่อสร้างถ.สาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม วงเงิน 167 ล้านบาท จะเร่งทีโออาร์ให้เสร็จในเดือน มี.ค. เปิดประมูลได้ผู้รับเหมาเดือน พ.ค.-มิ.ย. เริ่มสร้าง ส.ค.-ก.ย. เพื่อเร่งเบิกจ่าย 15%
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า งบฯ ปี 2563 มีโครงการลงทุน 4 โครงการ รวม 3,425 ล้านบาท ได้แก่ ขยายลานจอดเครื่องบินสนามบินสุราษฎร์ธานี ขยายทางขับสนามบินกระบี่ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารสนามบินนราธิวาส และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สนามบินบุรีรัมย์ จะประมูล ก.พ.-มี.ค. และเซ็นสัญญา พ.ค.-มิ.ย.
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 ได้ประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทั้ง 13 แห่งประจำปีงบประมาณ 2563 มีงบฯลงทุนรวม 128,026.86 ล้านบาท นับถึงเดือน ม.ค. 2563 สามารถเบิกจ่ายได้ 25,000 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของงบฯลงทุนทั้งหมด ล่าช้าจากเป้าที่ต้องเบิกจ่ายให้ได้ 40,826 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของงบฯลงทุนทั้งหมดที่ 10%
หน่วยงานที่เบิกจ่ายล่าช้าที่สุดคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) งบฯลงทุนปี 2563 อยู่ที่ 72,786 ล้านบาท เป้าเบิกจ่าย ณ เดือน ม.ค.อยู่ที่ 25,578 ล้านบาท เบิกได้ 10,676.75 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 10% เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ติดปัญหา EIA ทำเพิ่มเติมยังไม่ได้รับอนุมัติ ทำให้ยังเซ็นสัญญาผู้รับเหมาไม่ได้ จึงเร่งรัดให้ดำเนินการส่งข้อมูลให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาโดยเร็ว ส่วนหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้เกินแผนคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป้าเบิกจ่ายอยู่ที่ 8,541 ล้านบาท เบิกได้ 9,532 ล้านบาท เกินเป้า 23%