นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค.ปีนี้ รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทุกเดือน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ให้ขยายตัวมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปีการส่งออกไทยขยายตัวติดลบ 3.6% ขณะที่สภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวเพียง 1.6% และทั้งปีขยายตัวเพียง 2.6%”
และในเดือน ม.ค. รัฐบาลได้ทำมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก ยกตัวอย่างเช่น เติมทุนให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันลูกหนี้เพิ่มจากเดิม 30% เป็น 40% สินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การหักค่าใช้จ่าย 2.5 เท่าสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกรายการ และออกสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการส่งออกของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นต้น
โดยคาดหวังว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจไทยปี 2563 ให้เติบโตได้ประมาณ 2% ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเหมือนไทย
แต่เหตุการณ์ปลายเดือน ม.ค. ก่อนเทศกาลตรุษจีนเพียงวันเดียว คือวันที่ 23 ม.ค. รัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมากก่อนว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวจากมาตรการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก
ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยที่เตรียมไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากจีน ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นักท่องเที่ยวหายไปถึง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้กระทรวงการคลังต้องมาทบทวน และวางแผนกันใหม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประเทศไทยฟันฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไปให้ได้
“ต้นเดือน ก.พ. ผมจึงตัดสินใจใส่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 123,000 ล้านบาท โดยขยายเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน จากเดิมเดือน มี.ค.เป็นเดือน มิ.ย.2563 เพื่อลดภาระภาษีให้แก่ประชาชน นำค่าใช้จ่ายในการอบรม สัมมนาในต่างจังหวัดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็นบวกมากกว่า 1% ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีใครคิดว่าความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จะมากถึงขนาดนี้”