ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมวันที่ 16 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบิน ภาคเอกชนสายการบินต่างๆ เพื่อพิจารณาการซักซ้อมมาตรการต่างๆ ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท.ได้ออกประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่ยังมีความสับสน และประชาชนผู้เดินทางยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ เช่น มาตรการเรื่องการให้ผู้เดินทางเข้าจากต่างประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องมีใบรับรองแพทย์แจ้งให้แก่สายการบินพิจารณาก่อนและอื่นๆ
รายงานข่าว ระบุว่า ในส่วนของเอกชน ผู้แทนสมาคมธุรกิจการบิน ได้เตรียมข้อเสนอให้แก่ภาครัฐพิจารณา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หากปัญหายืดเยื้อ และมีการระบาดในประเทศหนักขึ้น ก็จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้บริหารของสมาคมที่มีสมาชิกสายการบิน 94 แห่ง รายหนึ่งระบุว่า สถานการณ์ด้านการบินทั่วโลกขณะนี้มีประเทศอย่างน้อย 12 ประเทศทำการปิดประเทศ ในส่วนนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการเดินทางน้อยลงธุรกิจสายการบิน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่ก็เป็นโจทก์สำคัญให้ผู้บริหารประเทศทั่วโลกต้องมาคิดว่า จะมีมาตรการเบ็ดเสร็จอย่างไรที่ทำให้ปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 จบเร็ว ไม่ยืดเยื้อ
“มีข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินขณะนี้ เห็นว่า ตอนนี้บางเที่ยวบินก็มีคนบินน้อยมาก พูดง่ายๆว่าลูกเรือกับผู้โดยสารจำนวนใกล้เคียงกัน แต่บางสายการบินยังจำเป็นต้องทำการบินทั้งที่ขาดทุน ข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลพิจารณาขณะนี้คือ อาจจำเป็นต้องมีการปิดประเทศและพรมแดนของไทยเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศได้ทำงานกับภาระผู้ป่วยที่มีในขณะนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะหากยังเปิดบริการการบินทางอากาศ มีการบินไปมา และมีผู้ติดเชื้อใหม่เดินทางเข้ามาทุกวัน สุดท้ายก็จะคุมการระบาดได้ยาก" ผู้บริหารสมาคมการบินรายหนึ่งกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้บริหารธุรกิจการบินเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องพักเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจไว้ก่อน แต่เอาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศเป็นตัวตั้ง เพราะหากการระบาดกระจายเป็นวงกว้าง และระบบสาธารณสุขของไทยไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีภาระผู้ป่วยมากเกินไป สุดท้ายหากปัญหาลากยาว ธุรกิจทุกประเภทและเศรษฐกิจก็จะได้รับความเสียหายอยู่ดี
"ยืนยันว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่ความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ แนวคิดเรื่องการปิดประเทศ ปิดเมือง จะเห็นว่ามีหลายประเทศ หลายเมืองนำมาใช้ ถือเป็นมาตรการที่จัดการหนักในครั้งเดียวและเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการลง คือเริ่มจากหนักไปเบา แต่หากประเทศไทยทำกระจายเป็นส่วนๆ ปิดเฉพาะบางชุมชนบางพื้นที่ หรือทำจากเบาไปหาหนัก ในสถานการณ์การคุมโรคระบาดนั้น คงเป็นเรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้ยากในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามท้าย ที่สุดคนตัดสินใจ คงต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลเอง" ผู้บริหารสมาคมการบินกล่าว