ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ทั้งนี้นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการและบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคลองลาดพร้าวและคลองสอง เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด การสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวคลองและทางระบายน้ำสาธารณะ โดยกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมดำเนินการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายนอก และหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเอง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 8 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว ห้วยขวาง และเขตวังทองหลาง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวโครงการเกิดความเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนให้ได้มีที่อยู่อาศัยถาวรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการและบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคลองลาดพร้าวและคลองสองดังกล่าว
ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับโครงการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคลองลาดพร้าว และคลองสอง เพื่อให้พื้นที่คลองของกรุงเทพมหานครเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จจะนำไปสู่การดำเนินการในคลองอื่นๆ ในส่วนของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ มีช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือในด้านของมิติสังคม ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวกว่า 43 ชุมชน ต้องมีความเข้าใจ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครต้องขอขอบคุณสภากรุงเทพมหานครที่มีความห่วงใย ตลอดจนรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งในขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าไปกว่าเดิมมาก
ขณะที่ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สภากรุงเทพมหานครมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน และบางหน่วยงานก็ไม่ได้สังกัดกรุงเทพมหานครโดยตรง จึงอาจเกิดปัญหาในการประสานงานจึงขอให้ฝ่ายบริหารหารือบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างเต็มที่ ซึ่งหากมีข้อติดขัดในเรื่องของข้อบัญญัติหรือกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสภากรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานครก็พร้อมให้ความร่วมมือ นอกจากนี้สภากรุงเทพมหานครจะได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อคิดเห็นที่ถูกต้องต่อฝ่ายบริหาร