กรมการขนส่งทางราง ดีเดย์ปี 2566 กำหนดทีโออาร์จัดซื้อชิ้นส่วนในประเทศ 40% ปี 2567 ซื้อครบ 100% ของมูลค่าโครงการ คาดสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ57’ 7 พันล้าน
นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ลงนามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยมีความยั่งยืน ด้วยการสนับสุนนให้มีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคคลกร การวิจัยและพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมทั้งระบบ ระหว่างกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอีก13หน่วยงาน โดยระบุว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) วางเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เข้มแข็งแต่ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางไทยยังมีน้อยรายและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับตํ่า
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ เนื่องจากผลการศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรางระยะที่ 2 พบว่าการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศในสัดส่วน 40% จะสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7 พันล้านบาท ขณะที่การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศจะทําให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงกว่า 2.8 พันล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 2 พันล้านบาท และยังช่วยลดภาระการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1.7 พันล้านบาทต่อปี
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศนั้น ขร.ได้จัดทำแผนไว้แล้วตามโครงการ Thai First หรือไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน โดยกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะต้องมีการจัดซื้อบางชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะต้องมีการเขียนระบุไว้ในเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้ชัดเจน
“ตอนนี้ตั้งเป้าภายในอีก 4 ปี หรือภายในปี 2566 ทุกหน่วยงานระบบรางจะต้องจัดซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าการจัดซื้อ และในปี 2567 ต้องซื้อในประเทศครบ 100% ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ถึง 50% เพราะปัจจุบันมีชิ้นส่วนเพียง 3 รายการที่ ผู้ประกอบการไทยยังผลิตเองไม่ได้ คือ โบกี้รถไฟ เกียร์ และชุดเกียร์ คิดเป็นมูลค่าราว 50% ของมูลค่านำเข้า”
ขณะเดียวกัน การผลิตชิ้นส่วนใช้เองในประเทศ ยังช่วยประหยัดงบซ่อมบำรุงได้อีกปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เพราะหากไทยผลิตชิ้นส่วนเอง ก็จะสามารถซ่อมเองได้ ทั้งนี้ ขร. ยังเชื่อว่าการลดการนำเข้าจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคตถูกลง ซึ่งจะทำให้อัตราค่าโดยสารถไฟ และรถไฟฟ้า มีแนวโน้มปรับลดลงสอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บีทีเอส พร้อมให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ โดยในปัจจุบันบริษัท บอมบาดิเอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอะไหล่และระบบอาณัติสัญญาณระบบโลกและบีทีเอสได้ใช้อุปกรณ์อยู่ ได้มาตั้งโรงงานผลิตระบบเบรคและระบบอาณัติสัญญาณบางส่วนในไทย
นอกจากนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่บีทีเอสได้เป็นผู้ดำเนินการนั้น ส่วนของระบบสับหลีกราง ซึ่งโมโนเรลต้องใช้ ทางบริษัท บอมบาดิเอร์ ก็ได้มีการจ้างให้บริษัทในประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และจัดใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศในหลายส่วน ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการใช้อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 5 - 10%