นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ ด้านกิจการบริหารกลาง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 19/2559 วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559 ว่า ที่ประชุม กกต. ได้มีมติให้ออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ จะมีผลเมื่อประกาศดังกล่าวลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว คาดว่าจะมีผลไม่เกินสัปดาห์หน้า โดยมีข้อกำหนด สิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ
1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน
2. แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ
3. แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจนไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
4. การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย
5. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน
6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม
สำหรับในส่วนที่ทำไม่ได้ 8 ข้อ ประกอบด้วย
1. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
2. การนำเข้าข้อมูล (โพสต์) อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูล (แชร์) ในลักษณะดังกล่าว
3. การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
5. การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายการแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
6. การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคายหรือปลุกระดมทางการเมือง
7. การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวาย ในสังคม
8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง
นายธนิศร์ ศรีประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อมวลชนสามารถรายงาน หรือ เสนอข่าวด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง คำนึงถึงความเท่าเทียมและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ กกต. อาจจะออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการออกประกาศของ กกต.ยืนอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำอาจจะผิดกฎหมายอย่างอื่น เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกาศหรือคำสั่ง คสช. โดยประชาชนพึงระวังความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย