นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี และเป็นไปตามที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้เห็นชอบร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่เมืองไห่หนาน โดยยึดหลักการของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (G – G) ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนและเริ่มการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ทั้งนี้ ให้ฝ่ายจีนปรับลดต้นทุนการก่อสร้างและปรับกรอบเวลาดำเนินโครงการให้เหมาะสมเป็นไปได้ ผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. วงเงินลงทุนโครงการ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนโครงการทั้งหมดตามที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ได้เห็นชอบร่วมกันแล้ว คณะทำงานทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับประมาณการมูลค่าการลงทุนของโครงการ ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนพิจารณาปรับตัวเลขต้นทุนการก่อสร้างและระบบรถไฟให้ลดลงโดยยังคงหลักการด้านมาตรฐานความปลอดภัย และความเหมาะสม ซึ่งทางฝ่ายจีนจะดำเนินการให้ได้ข้อยุติภายใน 1 สัปดาห์
2. รูปแบบการก่อสร้างโครงการ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ดำเนินการในรูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) โดยแยกการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
2.1 งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (EPC – 1) ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยเข้าร่วมก่อสร้างโครงการ และเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วที่สุดทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 – 5 ตอน
2.2 งานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (EPC – 2) ฝ่ายจีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานด้านรถไฟความเร็วสูงที่มีคุณภาพ โดยได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการรวมทั้งงานออกแบบรายละเอียด (Construction Drawing) ของงานโครงสร้างพื้นฐานใน EPC – 1 ฝ่ายไทยจะใช้แบบรายละเอียดดังกล่าวในการคัดเลือกบริษัทก่อสร้างของไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง