ศ.สุชาติ! การบริหารระบบเศรษฐกิจ ต้องดูเป็นระบบ ไม่ควรใช้เหตุผลย่อยๆ มาตัดสิน ซึ่งผลลัพธ์ มักจะผิดตรงข้ามเลย
1.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการบริหารเศรษฐกิจต้องบริหารเป็นระบบ ซึ่งเรียกว่า Macroeconomics ควรใช้ระบบนี้ ตัดสินใจเท่านั้น ไม่ควรเอาเหตุผล แบบย่อยๆ (Microeconomics) มาใช้อธิบายเข้าไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผลลัพธ์จะผิดตรงข้ามเลย เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ช่วยผู้ว่าแบงค์ชาติท่านหนึ่ง นำเหตุผลจากภาพย่อย (Micro) มาพูดว่า หากดอกเบี้ยต่ำ ประชาชนจะไปกู้เงินมากขึ้น แล้วเป็นหนี้มากขึ้น ดังนั้น ต้องขึ้นดอกเบี้ย แล้วประชาชนจะกู้น้อยลง จึงจะเป็นหนี้น้อยลง
2. แต่หากมองระบบ (Macro) ล้วนๆ การลดดอกเบี้ย (1) จะทำให้การลงทุนเอกชน (I) เพิ่มขึ้น (2) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง มีผลให้การส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น (X) โดยทั้ง 2 ตัวแปร อยู่ในสมการ GDP = C+I+G+(X-M) จึงทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น จึงไปกู้มาเพื่อการบริโภค (C) น้อยลง และดอกเบี้ยบนยอดหนี้รวมก็น้อยลงด้วย ดังนั้น "การลดดอกเบี้ย จึงทำให้หนี้ครัวเรือนลดลง" จะเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ตรงข้ามกับที่ผู้ช่วยฯ ท่านนั้น พูดเลย
3.การบริหารเศรษฐกิจ จึงต้องดูให้เป็นระบบ ต้องไม่เอาเหตุผลภาพย่อย (Micro) มาอ้างอิง เพราะจะผิดมากกว่าถูก ซึ่งคนมักพูดผิดๆเป็นประจำ แม้จบเศรษฐศาสตร์มาแล้ว จึงขอสรุปเบื้องต้นว่า เวลาวิเคราะห์ระบบ Macroeconomics ไม่ควรนำเหตุผลจาก Microeconomics (ที่พูดเป็นเรื่องๆ แยกออกจากกัน) มาอ้างอิงด้วย
4.ในเรื่อง ศักยภาพการผลิต (Productivity) แม้ประเทศใหญ่มากๆ อย่างสหรัฐฯ เมื่อดำเนินนโยบายถูกต้อง ยังสามารถเติบโตได้ถึง 3-4%, ในไตรมาสที่ 2, 3 ของปี 2566, และญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 เติบโตได้ 6%
5.ดังนั้น การที่แบงค์ชาติ พูดว่าเรามีศักยภาพ เติบโตได้เพียง 3% กว่าๆ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ สำหรับประเทศยากจนอย่างไทย ที่ไม่สามารถช่วยกันสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้ 5-6% การขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ทำตามหลักวิชา โดยขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป กดเงินเฟ้อต่ำไปจนติดลบ ทำให้ระบบเศรษฐกิจแทบไม่เติบโต ไม่มีอนาคต และประชาชนยากจน
6.ประเทศจีน ซึ่ง GDP เติบโตกว่า 5% ในปี 2566 ก็ยังลด Required Reserve ratio ถึง 0.5 point เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยไม่ได้อ้างแบบแบงค์ชาติไทยว่า จะฟื้นเศรษฐกิจ ต้องไปเพิ่มศักยภาพการผลิต (Productivity) แต่แบงค์ชาติไทยไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้งๆที่ GDP ปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% โดยอ้างว่าดอกเบี้ยเป็นกลางจึงแสดงถึงการขาด "หลักวิชา" นับเป็นเรื่องที่โชคร้าย สำหรับประเทศและประชาชนไทย
7. การที่แบงค์ชาติพูดว่า หากรัฐบาลไทย ต้องการความเจริญเติบโต (GDP growth) สูงขึ้น ก็ต้องไปเพิ่ม Productivity แต่คำๆ นี้เป็นแนวคิดระดับ Micro เป็นตัวแปรตามตัวอื่นๆ
8. จึงต้องค้นหาดูว่า เราจะเพิ่ม Productivity ของชาติได้อย่างไร คำตอบ คือต้องขายของได้มากขึ้น กรณีประเทศไทย คือส่งออกสินค้าและบริการได้มากขึ้น จึงไปจะดึงการใช้กำลังการผลิต (Capacity) ให้เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันใช้เพียง 57% เกือบต่ำสุดในโลก) เมื่อเพิ่ม Capacity ได้ใกล้ 100% แล้ว จึงจะมีการไปซื้อเครื่องมือเครื่องจักร ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเพิ่ม Productivity
9. แล้วประเทศไทยจะส่งออกมากขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องไปลดดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แข่งขันได้ดีขึ้น ดังนั้น "การลดดอกเบี้ย จึงจะทำให้ Productivity เพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาลยังได้ภาษีมากขึ้น สามารถนำไปสร้างโครงสร้างและบริการพื้นฐานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Productivity ของชาติ อีกทางหนึ่งด้วย...ศ.สุชาติ กล่าวในที่สุด