ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ Mr. Kazuya Suzuki Chief Representative, JICA Thailand Office กล่าวแสดงความยินดี พร้อมนี้มีการกล่าวปาฐกถา ในเรื่อง “การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำของไทย” โดย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และการเสวนา เรื่อง “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธาน มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หัวหน้าชุดโครงการ) ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า งานสัมมนา “เริ่มด้วยใจ เปลี่ยนผ่านไทยสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการคุณธรรมในสังคมไทยท่ามกลางกระแสสังคมคาร์บอนต่ำในมิติชุมชนและมิตินโยบาย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. โดยงานสัมมนาครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยคุณธรรมของไทยเน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญ ถือเป็นกลไกที่มีพลัง มีศักยภาพ และมีเอกลักษณ์
ปัจจุบันทั่วโลกมีความตื่นตัวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างมุ่งมั่นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม COP ครั้งที่ 26 ปี 2564 โดยประกาศตั้งเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 มุ่งหวังให้คนในสังคม และชุมชน “ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมด้วยช่วยกัน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบ มีการเชื่อมโยงกับมิติ “คุณธรรม” เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้น ให้ชุมชนและทุกภาคส่วนสามารถ “เริ่มต้นด้วยใจ” ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทีมนักวิจัยทำหน้าที่เสมือนเป็น “ตัวกลางขับเคลื่อน” การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเป็นการแสดงพลังของประเทศไทยในฐานะพลเมืองโลกต่อการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาคมโลก
ทางด้าน นายปวิช กล่าวว่า การขับเคลื่อนชุมชนคาร์บอนต่ำของไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรวดเร็ว ซึ่งมีความท้าทายจากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และการเตรียมปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยงานวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นอกจากนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เร็วกว่าเป้าหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนต้นแบบที่เกิดขึ้นจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสุขภาพของคนไทยที่เกิดขึ้นจากมลพิษต่างๆ ให้ดีได้ยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลต่อไปในอนาคต
ขณะที่ รศ.ดร.สุนิดา กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เน้นบทบาทของชุมชนเป็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยการนำเสนอผลงานต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ในการยกระดับชุมชนไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศที่ผูกพันไว้ในเวทีสากล รวมไปถึงการสร้างโอกาสพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ทั้งภาครัฐและเอกชน
หลังจากนั้น ดร.วิภารัตน์ได้มอบประกาศนียบัตรต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว แก่หน่วยงานต้นแบบ 6 แห่ง ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สระบุรี พิจิตร และระนอง