นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบการก่อตั้งของบริษัทฯ ซึ่งจากประสบการณ์การดำเนินงานกว่า 13 ปี ที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ดำเนินกิจการในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า โดยเริ่มจากการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร หรือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จนมาถึงการได้รับภารกิจสำคัญในการบริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งบริษัทฯมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอยู่เสมอ รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและหลังจากรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้ขานรับนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ในระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีตลิ่งชัน ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะมากยิ่งขึ้นนั้น
โดยตั้งแต่เริ่มนโยบายดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ในปัจจุบันรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ใช้บริการอยู่ที่ 27,564 คน/วัน และให้สามารถทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High) ได้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 39,451 คน และหากนับตั้งแต่รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี มีปริมาณผู้ใช้บริการรวมมากกว่า 15 ล้านคน ซึ่งบริษัทฯขอให้คำมั่นว่าจะไม่หยุดพัฒนาประสิทธิภาพด้านการให้บริการ และด้านอื่นๆในทุกมิติ รวมถึงผลักดันให้องค์กรเป็นผู้นำด้านระบบขนส่งทางรางที่มีความทันสมัย สามารถเข้าถึงความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
สำหรับแผนงานด้านการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วยระบบการขนส่งรอง (Feeder)เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บริษัทฯได้จัดแผนการรองรับ 6 เส้นทาง ได้แก่
1. สถานีตลิ่งชัน – ถนนบรมราชชนนี
2. สถานีตลิ่งชัน – บางหว้า
3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลาดนัดจตุจักร
4. สถานีหลักสี่ – ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
5. สถานีหลักหก – มหาวิทยาลัยรังสิต
(เริ่มให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566)
6. สถานีรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ทั้งนี้ บริษัทฯยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการเดินทางระบบการขนส่งรอง (Feeder) อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 13 สถานี ได้อย่างสะดวก และมีความปลอดภัยสูงสุด