พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชุม ได้หารือร่วมกันในการกำหนดรายละเอียดมาตรการภายใต้แนวทางเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ1) การตัดสิทธิในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากวิธีการเผาไปใช้วิธีอื่น และการพิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐสำหรับเกษตรกรที่ไม่ให้ความร่วมมือ การกำหนดมาตรการลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผา
2) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ออกประกาศเขตห้ามเผา และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน ป้องกัน ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน
และ 3) การสนับสนุนเชิงรุก ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐบาล ให้คำแนะนำและสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยไม่เผา ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการและกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดกำลังพลและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการขนส่งเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ซึ่งแบ่งระดับการปฏิบัติการเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน
และระดับที่ 2 เมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าตั้งแต่ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 5 วัน
โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการเหตุการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจหน้าที่และยกระดับความเข้มข้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์หรือสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ใน 5 เรื่องหลัก คือ การจัดการไฟป่า การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง หมอกควันข้ามแดน และการดูแลประชาชน
รวมถึงเห็นชอบการเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ได้แก่ กรมบัญชีกลาง และมอบให้กรมควบคุมมลพิษเสนอประธานกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนลงนามต่อไป