นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สนธิกำลังกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 สถานีตำรวจภูธรกะรน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ประมาณ 100 นาย นำหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต เข้าตรวจสอบพื้นที่หาดนุ้ย หมู่ 2 ตำบล กะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ที่มีเอกชนเข้าไปอ้างการถือครองกรรมสิทธิ์เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา
พร้อมแจ้งข้อหาบุกรุกกับผู้อ้างการถือครองกรรมสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติปี 2507 หลังพบเข้าไปบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคเกิด ปลูกสร้างอาคารหลายหลัง และปิดกั้น เก็บเงินค่าบริการ 100 บาทกับประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่จะลงไปยังชายหาด
สำหรับในวันนี้มีการประกาศปิดให้บริการ 1 วัน และเมื่อเดินทางถึงพื้นที่พบ นายธนากร เสียมหาญ ทนายความ ของผู้อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมด้วยพนักงานร้านค้าได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ และรับฟังคำชี้แจงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่บูรณาการในวันนี้
ทั้งนี้ นายธนากร ทนายความให้ความร่วมมือในการตรวจสอบพื้นที่เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่จึงมีการเเบ่งทีมนำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ รังวัดตามพื้นที่ก่อสร้าง ในจุดต่างๆ ที่ได้มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากจุดเดิมที่เคยมีการรื้อถอนไปแล้วก่อนหน้านั้น
ข่าวแจ้งว่า ผู้อ้างการครอบครองที่ดินบริเวณหาดนุ้ยเป็นอดีตทหารเรือ มีการเก็บค่าเข้าก่อนลงหาด จำนวน 100 บาทต่อคน อ้างว่าเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่ ชายหาด และศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิ น.ส.3 ก. ของผู้อ้างการครอบครองไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 จากปัญหาเอกสาร ส.ค.1 ที่ใช้ยื่นขอ น.ส.3 ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ศรชล.เขต 3 กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ตำรวจภูธร สภ.กะรน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงไปตรวจสอบที่หาดนุ้ย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารเรือเข้ามามีส่วนพัวพัน ในการจัดเก็บผลประโยชน์และครอบครองที่ดินดังกล่าว และปรากฏว่าผู้อ้างการครอบครองที่ดิน แจ้งว่าเคยเป็นทหารเรือจริง แต่ไม่ได้อ้างเพื่อประโยชน์ในพื้นที่และยืนยันว่ามีสิทธิทำกิน แม้ศาลเพิกถอนเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ไปแล้วก็ตาม
สำหรับเอกสารที่ร้องให้กรมป่าไม้สั่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ทบทวนสำรวจตรวจสอบ ทำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณหาดนุ้ยใหม่นั้น เป็นเอกสารราชการที่ออกโดยกรมป่าไม้ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ เรื่อง ขอให้ทบทวนการรังวัดแนวเขตป่าสงวน แห่งชาติบริเวณเทือกเขานาคเกิด ระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า ตามที่นายสิงหา ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 เรียน อธิบตีกรมป่าไม้ว่า ตนเองเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา ตั้งอยู่ที่หาดนุ้ย หมู่ 2 ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจาก นาย…นาย…และนาย… ซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน กรณีได้รับความเดือดร้อน จากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทับที่ดินทำกินของตนและผู้มอบอำนาจ ซึ่งคณะกรรมการป่าสงวนแห่งชาติ มีคำสั่งอนุญาตให้อยู่อาศัย โดยให้เสียคำธรรมเนียมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 481 (พ.ศ.2515) ตนเองและผู้ครอบครองที่ดิน ได้ทำประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนการประกาศให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2507
การประกาศป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ และออกหนังสือสิทธิการครอบครองการใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ จึงขอให้กรมป่าไม้ สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ดำเนินการทบทวนสำรวจตรวจสอบ ทำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยในการสำรวจขอให้แจ้งตนเอง เพื่อร่วมระวังชี้แนวเขตให้ถูกต้องต่อไปนั้น
กรมป่าไม้ขอมอบหมายสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้รับการประสานจากนายสิงหา เพื่อร่วมระวังชี้แนวเขตที่ดินที่ร้องเรียน และขอความเห็นกรณีการแก้ไขปัญหา ผลเป็นประการใด ขอให้แจ้งกรมป่าไม้ทราบด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการ
อย่างไรก็ดี ในปี 2561 เทศบาลตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมกับ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท.ในสมัยนั้น รวมถึงสำนักงาน ปปง., สำนักงาน ส.ป.ก. จังหวัดภูเก็ตและเจ้าหน้าที่ ศูนย์ป่าไม้จังหวัดภูเก็ต ร่วมกันตรวจสอบที่ตั้งบริษัท วอเตอร์บีชภูเก็ต มีที่ตั้งอยู่บริเวณหาดนุ้ยเนื่องจากเชื่อมโยงกลุ่มนอมินีจีน จากกรณีเหตุเรือฟีนิกซ์ พีซี ไดวฟ์วิง ประสบอุบัติเหตุล่มเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จนทำให้มีนักท่องเที่ยว ชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 คน ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 เทศบาลตำบลกะรนแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่ สภ.กะรน บุคคลผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของหาดนุ้ยในความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ก่อสร้างอาคาร ดัดแปลง ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการรื้อถอน เพราะการรื้อถอนเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้
สำหรับพื้นที่ “หาดนุ้ย” (ใต้ผาหินดำภูเก็ต) ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เป็นที่ดิน ส.ป.ก. และป่าไม้ภูเก็ต เเละเจ้าหน้าที่ยืนยันพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด และก่อนนี้ได้มีคำสั่งรื้อถอนอาคารจำนวน 16 หลัง ที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตไปเเล้ว เเต่ในวันนี้กลับกลายเป็นว่า มีสิ่งก่อสร้างที่สร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายจุด ที่เปิดเป็นร้านอาหาร และจุดชมวิว
โดยในเรื่องนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีเอกสารสิทธิที่ดินหาดนุ้ยนั้น ศาลได้ตัดสินแล้ว แต่ข้าราชการในพื้นที่รับผลประโยชน์ ด้วยการใช้เกมยื้อเวลา ร้องเรียนให้กรมป่าไม้สั่งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ทบทวนสำรวจตรวจสอบ ทำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติใหม่ ในขณะเดียวกันยังมีชายฉกรรจ์พกพาอาวุธปืนไปข่มขู่ให้คนในพื้นที่หวาดกลัว เพื่อเรียกร้องเอาที่ดินจากคนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ขยายผลปัญหาเรื่องราวที่ทางอธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการให้ลงมาตรวจสอบพื้นที่อย่างจริงจังและเข้มงวด กวดขัน ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมาย และขยายผลปัญหาครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินหน้าชายหาดใน จ.ภูเก็ต ที่ขยายวงกว้างในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการร้องเรียนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต นอกจากกรณีนักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ทำร้ายร่างกายแพทย์หญิง ที่บริเวณชายหาดยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ต่อมามีกลุ่มประชาชนไปชุมนุมเรียกร้อง ให้เปิดทางลงสู่ชายหาด แหลมหงา เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต
นายบรรณรักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ชายหาดเป้าหมาย ที่นายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง อีกหลายแห่ง ทั่วเกาะภูเก็ตที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์ชายหาดสาธารณะได้อย่างปกติ เช่น ชายหาดแหลมกา ชายหาดเฟรนด์ชิป อำเภอเมืองภูเก็ต ชายหาดแหลมสิงห์ หาดพาราไดซ์ ชายหาดไตรตรัง อำเภอกะทู้ ชายหาดเลพังบางเทา ชายหาดสาคู อำเภอถลาง รวมทั้งชายหาดอื่นๆ ที่อยู่บนเกาะบริวาร โดยรอบเกาะภูเก็ตด้วย