นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่พณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ขับเคลื่อน 8 hub มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาแรงงาน โดยเฉพาะการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วน โดยจะต้องมองแรงงานเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ที่สามารถพัฒนาให้มีทักษะสูง รองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ทวีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มผลิตภาพและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น “ตามศักยภาพ คุณภาพ ระดับทักษะฝีมือ" และจะส่งผลให้แรงงานและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ตรงตามแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการ นโยบายระดับชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การมหาชน ผู้แทนสภาองค์กรนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทุกภาคส่วน ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาแรงงานและการฝึกอาชีพของประเทศ
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การพัฒนากำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC การพัฒนากำลังคนในเขตระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพื่อให้ตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องการท่องเที่ยว และแรงงานมีศักยภาพมีความพร้อมที่จะทำงาน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความต้องการผลักดันให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของไทย Tourism Hub” ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าว จะทำหน้าที่ในการเร่งรัดติดตามการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกมิติ
นอกจากนี้ยังมีการเสนอแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด เพื่อเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณของงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้แก่คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) สามารถดำเนินการอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นการพัฒนาแรงงานในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อไป