วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา ,รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, รองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีรับเข็มและประดับเครื่องหมาย ภปร. พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาทให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (เข้าใหม่) ของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี นายอำเภอพุทธมณฑล ประชาสัมพันธ์จังหวัด คณะครู อาจารย์ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้าร่วมพิธี
ว่าที่ร้อยตรี พิษณุพล แตงอ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2567 โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ได้จัดพิธีรับเข็มและประดับเครื่องหมาย ภปร. แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 484 คน และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (เข้าใหม่) จำนวน 63 คน รวมทั้งสิ้น 547 คน โดยได้จัดพิธีรับเข็มและประดับเครื่องหมาย ภปร. ขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เทิดทูนและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งให้นักเรียนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริสร้างสรรค์ ส่งเสริม และสนับสนุนด้านการศึกษานานัปการ เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่เยาวชนและประเทศชาติบ้านเมือง ตลอดจนเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนในเกียรติภูมิของตนเอง และโรงเรียนสืบไป
สำหรับโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ก่อตั้งขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปีพุทธศักราช 2539 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ทั้ง 9 แห่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมพระราชทานนามโรงเรียน และพระราชทานอักษรย่อพระปรมาภิไธย "ภปร."