ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
ธ.ชาติสั่งแบ้งก์พาณิชย์ใช้มาตรการ Money Lock กันดูดเงิน
15 มิ.ย. 2567

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับการรับมือภัยทางการเงิน ธปท.ได้ให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมและการใช้บริการดิจิทัลของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น โดย ธปท.กำหนดให้ธนาคารเพิ่ม 2 บริการบนช่องทางดิจิทัล หรือโมบายแอปพลิเคชั่น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการป้องกันภัยทางการเงิน โดยธนาคารจะต้องพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2567 นี้

ได้แก่ 1.การล็อกวงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ (Money Lock) โดยการปลดล็อกวงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น เช่น บัญชีที่มีวงเงินก้อนใหญ่ อาทิ บัญชีออมทรัพย์ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกล็อกวงเงิน หรือประเภทบัญชีได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่เจ้าของบัญชีสามารถเลือกล็อกเฉพาะบัญชี หรือล็อกวงเงินเพียงบางส่วน อาทิ ล็อกวงเงิน 90% และอีก 10% เป็นวงเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้ และกรณีที่จะปลดล็อกอาจจะต้องไปที่สาขา เป็นต้นโดยมาตรการนี้แต่ละธนาคารสามารถออกแบบได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า และช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้จากภัยทางการเงิน

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน Mobile Banking ต่ำกว่า 50,000 บาท โดยธนาคารจะมีการปรับให้สามารถกำหนดวงเงินเป็นขั้น ๆ ได้ เช่น 20,000 บาท ตามเทียร์ของลูกค้าและ 2.การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (Double Authorisation) หรือการโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นบริการเพิ่มเติมให้ลูกค้าเลือกใช้ โดยหากจะมีการโอนเงิน จะให้บุคคลที่ไว้ใจ เช่น ลูก พ่อแม่ พี่น้อง ในการช่วยดูแลอีกทางก่อนจะมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือการกำหนดรายชื่อไว้ล่วงหน้าสำหรับธุรกรรมโอนเงินโดยเฉพาะ กรณีไม่มีชื่อจะไม่สามารถโอนเงินได้

นอกจากนี้ ธปท.ยังยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่จะมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละ 4,000 ชื่อ

และระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) จะมีการแชร์ข้อมูลบุคคลที่มีความเสี่ยงและเส้นทางการเงินโดยทุกธนาคารจะเห็นข้อมูลข้ามธนาคาร ภายใน 31 ก.ค. 2567 รวมถึงธนาคารจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีต้องสงสัย เพื่อจัดระดับความเสี่ยงโดยทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน โดยที่ผ่านมาธนาคารตรวจจับได้ราว 2 หมื่นบัญชี

“ปัจจุบันภัยทางการเงินกำลังคุกคามผู้ใช้บริการมากขึ้น และมีเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ยกระดับมาตรการเพื่อรับมือภัยทางการเงินครบวงจร ทั้งในเชิงป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองเมื่อเกิดเหตุ ส่งผลให้ที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขความเสียหายจากแอปดูดเงินลดลงบ้าง เราจึงให้แบงก์เพิ่มบริการเหล่านี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนและผู้บริโภคเลือกใช้ หากเกิดผิดพลาด พลาดพลั้ง จะได้ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งคาดว่าแต่ละธนาคารน่าจะพัฒนาบริการเพิ่มเติมแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 นี้ได้ โดย ธปท.จะมีการติดตามเป็นระยะ”

นายวชิราวัชร์ มหาทัพกฤษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า” ว่า มาตรการ “Money Lock” นั้น แต่ละธนาคารจะพัฒนาและออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของแต่ละธนาคาร และทยอยออกฟีเจอร์กันมาภายในไตรมาส 4/2567 เช่นเดียวกับธนาคารออมสินไม่น่าจะมีปัญหา และทันตามกำหนดการ

อย่างไรก็ดี มาตรการ “Money Lock” จะเป็นมาตรการจำกัดการโอน เช่น จากเดิมลูกค้าสามารถโอนเงินได้อิสระ แต่ต่อไปจะมีการกำหนดตามการใช้ เช่น เฉพาะรายชื่อ หรือกำหนดห้ามซื้อของออนไลน์ ดังนั้น หากมิจฉาชีพเข้ามาก็จะไม่สามารถโอนเงินออกไปได้ รวมถึง การแสดงความจำนงการแสดงบัญชีเงินฝากบนโมบายแอปพลิเคชั่น ซึ่งจากเดิมแสดงทุกบัญชี แต่ต่อไปลูกค้าสามารถกำหนดให้ไม่แสดงข้อมูล เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากประจำ โดยหรือห้ามเข้าถึงบัญชีไหนได้ ทำให้มิจฉาชีพไม่สามารถเข้าถึงบัญชีนั้นได้

นอกจากนี้ กำหนดวงเงินการสแกนจ่าย (QR Payment) หรือโอนเงินไว้ เช่น 300 บาท หากลูกค้าจะทำธุรกรรมวงเงินมากกว่าที่กำหนดไว้ ลูกค้าจำเป็นต้องโทร.หา Call Center เพื่อยืนยันตัวตนปลดล็อกธุรกรรม หรือสาขาธนาคารเท่านั้น ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินมีการกำหนดว่าบัญชีบุคคลอ่อนไหว เช่น กลุ่มฐานราก เด็ก หรือผู้สูงอายุ จะต้องไปที่สาขาเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย หรือลูกค้าสามารถเลือกช่องทางเอทีเอ็มการโอนเงินได้

“ภาพใหญ่ ธปท.จะกำหนด Money Lock ไว้ แต่ละธนาคารสามารถไปกำหนด วงเงิน รายละเอียดเพิ่มเติมตามฐานลูกค้า และกลุ่มลูกค้ากันเอง เพราะธนาคารใหญ่และเล็กแตกต่างกัน โดยการกำหนดครั้งแรกจะอยู่บนโมบายแอป เช่น รายชื่อโอน วงเงินการโอนหรือสแกน ซึ่งรายชื่ออาจจะสามารถลบได้ แต่กรณีเพิ่มรายชื่อหรือวงเงินต้องไปที่สาขา”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...