จากกรณีที่เฟซบุ๊คเพจ แผนกอาสาสมัคร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เผยแพร่ประกาศ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 ลงนามโดย นายสุชีพ บุญเส็ง หัวหน้าแผนกอาสาสมัคร เรื่อง การออกปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยมีใจความว่า อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งทุกจังหวัด ที่ออกให้บริการรับส่งผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บทุกกรณี ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนี้
1. หากตรวจพบหรือได้รับการร้องเรียนโดยมีหลักฐานชัดเจนว่าดำเนินการรับส่งผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บไป ยังโรงพยาบาล โดยปฏิบัติหน้าที่เพียงคนเดียว ให้พ้นสภาพจากการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งทันที โดยไม่มีข้อแม้หรือคำกล่าวอ้างใดๆ
2. กรณีนำส่งโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่สิทธิการรักษาของผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ ต้องมีการบันทึกวีดีโอไว้ เป็นหลักฐาน ว่าเป็นการสมยอมของผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บเอง หรือ เป็นความประสงค์ของญาติ หรือ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา หากมีการร้องเรียนแต่ไม่ได้บันทึกหลักฐานไว้ถือเป็นการเจตนาที่จะไม่ส่ง ตามสิทธิเล็งเห็นต่อผลประโยชน์ ให้พ้นสภาพจากการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
3. กรณีแจ้ง ว.4 ภายในเขต ถือว่าพร้อมที่จะปฏิบัติงาน ชุดเครื่องแบบ รองเท้า รถที่มีตราสัญลักษณ์ ต้องครบ จะไม่มีคำกล่าวอ้างใดๆ หากแจ้ง ว.4 ภายในเขตแล้ว หากตรวจพบหรือได้รับการร้องเรียนโดยมี หลักฐานชัดเจน ให้พักการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเวลา 6 เดือน
4. อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหากได้รับการลงโทษพักการปฏิบัติงานแล้ว ยังคงออกมา รับส่ง ผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ หรือ ใช้รหัสผู้อื่นปฏิบัติงาน ถือว่าขัดคำสั่งมูลนิธิฯ ให้พ้นสภาพจากการเป็นอาสาสมัคร กู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
5. จุดใดได้กระทำความผิดตามข้อที่ 1-4 หัวหน้าและรองหัวหน้าจุดจะได้รับโทษตามลำดับคือ ครั้งที่ 1 ว่ากล่าวตักเตือน ครั้งที่ 2 พักการปฏิบัติงาน ครั้งที่ 3 เปลี่ยนหัวหน้าและรองหัวหน้าจุดเนื่องจากไม่ สามารถควบคุมลูกข่ายภายในจุดได้
ซึ่งเรื่องนี้ ร.อ.นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ต้องชื่นชม และเป็นแบบอย่างต่อการทำงานการแพทย์ฉุกเฉินของอาสาสมัครมูลนิธิ ซึ่งสอดคล้องกับ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการแพทย์ พ.ศ.2564 ที่เน้นให้หน่วยปฏิบัติการ มีส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรฐานการทำงานของผู้ปฏิบัติการของตน
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อต้องการคุ้มครองความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ป่วย ตัวผู้ปฏิบัติงานและสังคม อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินและใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น