นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ในวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในภาพรวม ครม.อนุมัติจัดสรรงบประมาณ 341,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,966 ล้านบาท จากงบประมาณปี 67 ซึ่งในส่วนงบประมาณที่เพิ่มเติมมานั้น มาจากการเพิ่มงบประมาณไปที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ถูกจัดตั้งโดย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายในวงเงิน 235,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 18,213 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 15,014 ล้านบาท ค่าเหมาจ่ายรายหัวจาก 3,472 บาท เป็น 3,844 บาทต่อหัว และ 2.ค่าบริการทางการแพทย์นอกเหมาจ่ายรายหัว เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 2,441 ล้าน
นายจิรพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว นอกเหนือจากการเพิ่มงบประมาณค่ารักษาต่อหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมไปในหมวดดังต่อไปนี้ด้วย 1.ค่าบริการสุขภาพ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เพิ่มขึ้น 698 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 13,506 ล้านบาท 2.ค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ เพิ่มขึ้น 192 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,209 ล้านบาท 3.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,180 ล้านบาท 4.ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคหืด เพิ่มขึ้น 101 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,298 ล้านบาท 5.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เพิ่มขึ้น 139 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900 ล้านบาท และ 6.ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มขึ้น 1,067 ล้านบาท เป็นวงเงินทั้งสิ้น 19,596 ล้านบาท ครอบคลุม 66.37 ล้านคน
"นายสมศักดิ์ ตั้งใจที่จะยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับภารกิจสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายใต้สโลแกน "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ อัปเกรดพลัส" นายจิรพงษ์ กล่าว