เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 ที่หอประชุมโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ "พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา โดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21" ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพ การจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สําหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567
โดยมี นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กพฐ. เป็นประธานการเปิดงาน โดยที่นี่ เป็นจุดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 3 โรงประกอบด้วย โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ โรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเคราะห์ ๑” และโรงเรียนบางไทรวิทยา จำนวน 216 คน
ทั้งนี้มี ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา กล่าวปาฐกถาหัวข้อ พลิกโฉมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐานสากลตามวิสัยทัศน์ในศตวรรษที่ 21 โดยมีสาระสำคัญว่า ถึงเวลาที่จะต้องพลิกโฉมการศึกษาจากปัจจุบันไปเลย เพราะถ้าดูย้อนไปในอดีตจะเห็นว่าเวลาเรียนเด็กจะนั่ง ฟัง อ่าน ท่อง เพื่อนำไปสอบเท่านั้น เพราะเมื่อสอบเสร็จแล้วก็จะลืมทันที ซึ่งการเรียนแบบเดิมนี้เป็นการเรียนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของสมองในส่วนความจำระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ที่สูญเปล่า เมื่อเด็กเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จะลืมสิ่งที่เรียนมา 10 กว่าปีหมด ทำให้สมองไม่เกิดการพัฒนาเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แห่งสมองของมนุษย์ แต่ถ้าเด็กได้เรียนด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยได้คิดเอง ปฏิบัติเอง ตรวจสอบเอง แก้ปัญหาเอง สมองที่เรียนรู้นี้จะบันทึกความจำทั้งหมดไว้เป็นความจำระยะยาว ซึ่งนักการศึกษาชั้นนำของโลกก็พูดมานับ 100 ปีว่าการเรียนรู้ต้องผ่านการปฏิบัติจริง เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องพลิกโฉมของประเทศด้วยกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา
ขณะที่ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กพฐ. ระบุว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ที่ได้ผลสิ่งหนึ่ง คือ การเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งได้มีการทดลองและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าจำเป็นต้องมีการต่อยอด เพราะเห็นผลที่ชัดเจนและเกิดเป็นนวัตกรรมมากมาย ดังนั้นจากการอบรมครั้งนี้เรามีความคาดหวังว่าจะได้เห็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียนอย่างหลากหลายที่ผ่านกระบวนการคิดและลงมือปฏิบัติของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การเรียนดีมีความสุขอย่างแท้จริง และถ้ามีโอกาส สพฐ.ก็อยากจะขยายผลกระบวนการเรียนรู้นี้ขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ
โครงการนี้ฯ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นกิจกรรมระยะที่ 2 การออกแบบการเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เพื่อ "พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา โดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21" ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพ การจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สําหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพฐ.