นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร “นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ” รุ่นที่ 8 ว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการ กนอ. มีความมุ่งมั่นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย จึงผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างงานให้กับคนไทย
พร้อมทั้งตั้งเป้าให้ กนอ. เป็น “Investment Enhancer” หรือผู้ส่งเสริมการลงทุน โดยสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเติบโต ทั้งนี้ หนึ่งในความสำเร็จที่เห็นได้ชัด คือ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ. มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ และนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีสฯ
นอกจากนี้ยังมีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีก 4 แห่ง ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. มีพื้นที่รวม 1,444 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 43,240 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างงานได้ถึง 10,810 ตำแหน่ง
“กนอ. ไม่ได้ต้องการสร้างเพียงแค่จำนวนนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งและความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หลักสูตร “นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ” รุ่นที่ 8 ได้รับความสนใจอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมอบรม 48 คน จากหลากหลายภาคส่วน ทั้งผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ ผู้ประกอบการรายใหม่ และผู้บริหาร กนอ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการจัดตั้งและบริหารนิคมอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานสากล และสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมฯ ในประเทศไทย
การอบรมหลักสูตร “นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ” รุ่นที่ 8 กำหนดการอบรมทุกวันศุกร์ ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2567-30 สิงหาคม 2567 รวมระยะเวลา 9 วัน 54 ชั่วโมง หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้านกฎหมาย ข้อกำหนด การเงิน การตลาด และการบริหารจัดการ พร้อมทั้งมีการศึกษาดูงานที่นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ WHA Eastern Seaboard 4 ที่โดดเด่นด้วยแนวคิด Smart and Sustainable Industrial Estate มีผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอก กนอ. มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้
“หลักสูตรนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรมืออาชีพ ช่วยผลักดันการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก และเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมอยู่เคียงข้างกับชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”