เปิด “10 นโยบายเร่งด่วน” เร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ”นายกรัฐมนตรีเร่งผลักดัน แก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความมั่นคงของสังคม ฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและสากล
วันนี้ (12 กันยายน 2567) เวลา 09.19 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม เป็นปัญหาเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยสาระสำคัญของนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่จะดำเนินการทันที ดังนี้
นโยบายแรก ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ
นโยบายที่สอง ดูแล ส่งเสริม ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แก้หนี้ของ SMEs การจัดทำ Matching Fund เพื่อให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นโยบายที่สาม เร่งออกมาตรการลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร รองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย ลดภาระค่าเดินทาง
นโยบายที่ห้า เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและการประกอบอาชีพ
นโยบายที่หก ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
นโยบายที่เจ็ด เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตรา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนสนุก สถานบันเทิงครบวงจร นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินลงสู่ผู้ประกอบการในประเทศ
นโยบายที่แปด แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร ตั้งแต่ตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด ปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้า รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดไม่ให้กลับไปสู่วงจรอีก
นโยบายที่เก้า เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์รับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านและสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์
นโยบายที่สิบ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ จัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวก
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพลิกความท้าทายให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศโดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน โดยจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร พลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและสากล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นความภูมิใจของคนไทยที่นานาประเทศให้การยอมรับและเชื่อถือ