ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ(ทอ.) แถลงภายหลังประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ถึงการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศ ตามที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ถึงแนวนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางอวกาศกว่า 29,000 ล้านบาทต่อปี ที่มีการสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 35,600 กิจการ มีการจ้างงาน 1.6 ล้านคน
โดยกองทัพอากาศ เตรียมจัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ" ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของศูนย์ปฏิบัติการ
กองทัพอากาศ (ศปก.ทอ.) ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้บัญชาการทหารอากาศ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2568 โดยมีเสนาธิการทหารอากาศเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานทั้งภายในและนอก ทอ.
สำหรับศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีการเพิ่มอัตราหรือเงินเดือนเพิ่มแต่อย่างใด แต่ใช้กำลังพลจากศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ (ศปอว.ทอ.) สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกองทัพอากาศ (สง.ปรมน.ทอ.) และหน่วยเกี่ยวข้อง หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประสานงานฯ แห่งนี้
สำหรับการปรับโครงสร้างที่ต้องทำควบคู่ในปี 2568 ได้แก่
1. จัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อเปลี่ยนชื่อ "กองทัพอากาศ" เป็น "กองทัพอากาศและอวกาศ" โดยเมื่อสภากลาโหมเห็นชอบแล้ว จะนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯต่อไป
2. กองทัพอากาศ พิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เพื่อจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ" แบบศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) ของกองทัพเรือ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ภายในปี 2569 จากนั้นเป็นขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้ระยะเวลา 3 ปี หรือราวปี 2571