ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
กกจ.ประกาศรายชื่อ3โรงพยาบาลตรวจสุขภาพต่างด้าว
20 พ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศรายชื่อสถานพยาบาลเอกชนที่ผ่านการพิจารณาและดำเนินการเชื่อมข้อมูลกับระบบ กกจ. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 (ฉบับที่ 1) ระบุว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567  เห็นชอบเรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2567 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้คนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานตามแนวทางที่กำหนด ต้องตรวจโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งคนต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ทั้งนี้ กรณีสถานพยาบาลเอกชนที่จะตรวจสุขภาพคนต่างด้าวจะต้องผ่านการตรวจพิจารณาจาก กกจ. นั้น

บัดนี้ มีสถานพยาบาลเอกชนที่ผ่านการตรวจพิจารณาหลักเกณฑ์ของสถานพยาบาลเอกชน ที่จะตรวจสุขภาพคนต่างด้าว 3 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาล (รพ.) ศิครินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 976 ถนนลาซาล แขวงบางนาได้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 2. รพ. ศิครินทร์ สมุทรปราการ ตั้งอยู่เลขที่ 999/23-29  ถนนสุขุมวิท ต.บางปูใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 10280 และ 3.รพ.สุขสวัสดิ์ อินเตอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 272 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร 10140

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดี กกจ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลยื่นขอเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อกับ กกจ.เป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกจ.กำหนด ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2.สถานพยาบาลต้องมีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจาก สธ. ตั้งอยู่ในสถานพยาบาล 3.สถานพยาบาลต้องมีห้องเอกซเรย์และเครื่องกำเนิดรังสีทางการแพทย์ที่ผ่านมาตรฐานและแจ้ง ครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งอยู่ในสถานพยาบาล 4.สถานพยาบาลต้องมีระบบที่มีมาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ (Information Security Management System) และ 5.สถานพยาบาลสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของคนต่างด้าวกับกกจ.

 “หากโรงพยาบาลไหนคุณสมบัติครบถ้วน เข้ามาเชื่อมต่อระบบของ กกจ. เรียบร้อยแล้ว ก็จะทยอยประกาศออกมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่มีเพียงแค่ 3 โรงพยาบาลดังกล่าว อาจจะมีทั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวให้ครอบคลุมในหลายๆพื้นที่” นายสมชาย กล่าวและว่า ส่วนโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง จะเปิดให้คนต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องออกประกาศจาก กกจ. โดยจะควบคุมแค่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร จึงต้องยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีบริษัทประกันสุขภาพของคนต่างด้าว นายสมชาย กล่าวว่า ในส่วนนี้ได้วางมาตรฐานไว้อย่างเข้มข้นขึ้นเช่นกัน สำหรับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 จะต้องเป็นบริษัทฯที่มีความมั่นคงตามมาตรฐานที่ กกจ.กำหนด ขณะนี้ได้มีหนังสือไปถึงบริษัทประกันทุกแห่งเพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ หากบริษัทมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนดและมีความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ต้องยื่นกับ กกจ.ภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เพื่ออนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป

 “เมื่อแรงงานต่างด้าวใช้บริการประกันสุขภาพของบริษัทประกันภัย ก็จะเข้าไปรักษาตามโรงพยาบาลในเครือนั้นๆ ทำให้แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐได้ ส่วนตามที่ปรากฎในข่าวว่าแรงงานต่างด้าวแย่งสิทธิคนไทยในโรงพยาบาลรัฐนั้น ไม่เป็นความจริง แรงงานต่างด้าวบางคนที่ทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐ ก็มีสิทธิจะเข้ารับการตรวจหรือรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐตามที่ทำประกันสุขภาพไว้เหมือนกัน” นายสมชาย กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...