ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
เลือกตั้งนายกอบจ.ประชาชนได้อะไร?
24 ม.ค. 2568

ศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม  นักวิชาการอิสระด้านท้องถิ่น เปิดเผยกับอปท.นิวส์ ว่าวันเสาร์ที่1กุมภาพันธ์ 2568 จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือนายกอบจ.ทั่วประเทศ ภาพที่เห็นจากสื่อโชเชี่ยลส่วนใหญ่จะเห็นหัวหน้าพรรคหรือผู้ช่วยหาเสียงขึ้นเวทีไปหาเสียงสนับสนุนช่วยเหลือผู้สมัครนายกอบจ. ซึ่งคนเหล่านี้มาจากตัวแทนพรรคการเมืองที่เป็นการเมืองใหญ่ระดับชาติ แต่มาทำหน้าที่หาเสียงให้ผู้สมัครในส่วนของจังหวัดที่ประชาชนต้องตัดสินใจว่านายกอบจ.ของตัวเองจะต้องมาทำอะไรให้จังหวัด หรือมีการจะพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างไรมากกว่า เท่าที่กระทำกันอยู่เห็นว่ายังกลายเป็นว่าพรรคการเมือง หรือผู้นำพรรคมาบดบังผู้สมัครนายกอบจ.ไปเสียหมด และที่สำคัญพรรครัฐบาลเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ความหวังกับเรื่องนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่จะให้อบจ.ในจังหวัดทำกิจการอะไรให้ประชาชนในจังหวัดในระยะเวลา4ปีกับงบประมาณที่ได้มาต้องทำอะไรให้ชัดเจนหรือไม่

               ฉะนั้นการแข่งขันในการเลือกตั้งนายกอบจ.เพื่อหวังการยึดพื้นที่คืนให้กลับมาเป็นของตัวเองหรือจะคืนพื้นที่ของตัวเองที่เคยสูญเสียไปกลับมา กลับไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ไปเลือกตั้งนายกอบจ. เพราะสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นเรื่องของการเมืองระดับชาติ แต่นี่คือการเลือกตั้งท้องถิ่นความจริงนายกอบจ.ต้องเป็นของประชาชนและเลือกตั้งเข้ามาเพื่อทำความเจริญให้จังหวัดต่างหาก ถ้าการเลือกตั้งนายกอบจ. ผู้สมัครนายกอบจ.เป็นวอลเปเปอร์ แล้วประชาชนจะได้อะไร และเลือกเขาไปทำอะไร ไม่สามารถตอบโจทย์ได้

               สิ่งที่ประชาชนไปเลือกตั้งนายกอบจ.เขาอยากจะเห็นจังหวัดของเขามีอัตลักษณ์และความโดดเด่นของการพัฒนา อาทิ เป็นจังหวัดที่จัดการท่องเที่ยวสวยงาม มีป่า น้ำตก ทางเดิน ความปลอดภัย ถนนที่สวยงามดึงคนมาท่องเที่ยวมากขึ้น  เป็นจังหวัดที่มีคลอง น้ำใส  เป็นจังหวัดที่มีการจัดขยะที่ดีเยี่ยม  เป็นจังหวัดไร้ฝุ่น จังหวัดเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดแห่งอุตสาหกรรม ฯลฯ อยากเห็นถนนเชื่อมระหว่างเทศบาล อบต.ในการเดินทางและขนส่งสินค้าของชาวบ้านสะดวก เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต่างหากที่ประชาชนไปเลือกนายกอบจ.

               ดร.โกวิทย์กล่าวว่าหากไปดูในกฏหมาย จะมีที่เกี่ยวข้องอยู่2ฉบับใหญ่คือพ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งชัดเจนว่าภารกิจของนายกอบจ.คือกำหนดนโยบายซึ่งมีอำนาจอยู่แล้วตามกฏหมายที่จะกำหนดให้จังหวัดมีความโดดเด่นไปทางไหน เข้าใจได้ว่านายกอบจ.จะต้องไปกำหนดแผนพัฒนาอบจ. แต่ที่ผ่านมาไม่ชัดเจนเพราะไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกกำหนดมาให้เป็นผู้สมัครนายกอบจ.เท่านั้นเอง

และเมื่อไปดูกฏหมายกำหนดแผนกระจายอำนาจฯก็กำหนดให้อำนาจอบจ.ทำได้ และจะเห็นเป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้มากขึ้น  ตัวอย่างเช่นให้อบจ.สร้างโรงพยาบาลได้ จะเป็นจังหวัดแห่งสุขภาพที่ดี จะส่งผลระบบการสาธารณสุขของจังหวัดนี้ดีมาก อบจ.สามารถดูแลตลาดกลางได้ จะเป็นศูนย์กลางให้ประชาชนได้นำสินค้า ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆขายและแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจในจังหวัดจะดีขึ้น อบจ.สามารถจัดการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำที่เชื่อมต่อกับ อปท.อื่นๆ อย่างเทศบาล และอบต.เพื่อให้เส้นทางการเดินทางได้เชื่อมต่อกัน ยังมีเรื่องสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา การจราจร บำรุงศิลปวัฒนธรรม  อาทิ จะสร้างหอประชุมเมือง หอประวัติศาสตร์จังหวัด  เป็นต้น ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมได้โอนถ่ายเรื่องสถานีขนส่งมาให้อบจ.ดูแลอีก  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกิจการที่ดำเนินร่วมกับภาคเอกชน การรวมกลุ่มเป็นลักษณะสหการณ์ที่โดดเด่น เป็นต้น นายกอบจ.สามารถทำได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  สิ่งเหล่านี้คือคำตอบของผู้สมัครนายกอบจ.ต้องประกาศชัดเจนว่าประชาชนไปเลือกตั้งแล้วจะได้อะไร

อย่างไรก็ดีการให้นายกอบจ.ทำตามแผนพัฒนาอบจ.ของจังหวัด การประสานทำงานที่จะมีประสิทธิภาพคือการไปจับมือกับทางจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเขาก็มีแผนพัฒนาจังหวัดแต่เป็นเรื่องของภูมิภาคที่รัฐบาลส่งมาจากส่วนกลางผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้เป็นเจ้าของจังหวัดอยู่ไม่นานก็ย้ายไปย้ายมา แต่นายกอบจ.ต้องพัฒนาจังหวัดในระยะ4ปีหรือ8ปีหากประชาชนเห็นผลงานเพราะประชาชนเป็นเจ้าของจังหวัด ดังนั้นผู้ว่าฯกับนายกอบจ.ต้องจับมือกันให้ได้  และอีกประการนายกอบจ.ทำงานประสานกับเทศบาลและอบต.ในเรื่องของการบำรุงรักษาทางบกทางน้ำซึ่งมีอำนาจตามกฏหมายอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำไม่ทำการเชื่อมรอยต่อตรงนี้สำคัญมาก

ดร.โกวิทย์กล่าวอีกว่านายกอบจ.มีอำนาจตามกฏหมายข้างต้นแล้ว สิ่งที่สนับสนุนท้องถิ่นคืองบประมาณจากข้อมูลมีจังหวัดอย่างน้อยมากกว่า10จังหวัดที่ได้งบประมาณมากกว่า1,000ล้านบาท และจังหวัดที่มีงบลดลงตามลำดับและทุกจังหวัดสามารถกำหนดแผนพัฒนาอบจ.ตัวเองได้ตามกฎหมายทั้งสิ้น สามารถตอบโจทย์ปัญหาได้ทันที หากจะประกาศว่าผู้สมัครนายกอบจ.จังหวัดนี้ตั้งงบ 100ล้านบาทสร้างโรงพยาบาลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี  จังหวัดนี้สร้างโรงบำบัดน้ำเสีย50 ล้านบาท จังหวัดนี้สร้างโรงเรียนคุณภาพ80 ล้านบาท เป็นต้น ในทางการเมืองก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน ตัวอย่าง ผู้สมัครนายกอบจ.เสนองบสร้างโรงพยาบาล100ล้านบาท แต่ผู้สมัครอีกคนเสนองบ500 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้สมัครนายกฯต้องประกาศชัดเจนกับประชาชน นี่คือหัวใจของการที่ไปเลือกตั้งแล้วประชาชนได้อะไร

สำหรับการเลือกตั้งนายกอบจ.ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาของจังหวัดต่างๆซึ่งประชาชนได้คาดหวังไว้มากทีเดียวเพราะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นบทบาทของนายกอบจ.ที่เป็นวอลเปเปอร์ คนของบ้านใหญ่ คนของพรรคการเมือง แต่ไม่บอกว่ากระจายอำนาจให้เขาอย่างไร และที่เสียดายมากกว่านั้นผู้สมัครนายกอบจ.เองเข้าใจและรู้หน้าที่ตามกฎหมายของอบจ.ดีพอหรือไม่ อย่าลืมว่าจังหวัดคือจุดแตกหักของโครงสร้างฐานเศรษฐกิจ หากนายกอบจ.ทำให้ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพ  ส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดดี สะท้อนถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะเติบโตไปด้วยเช่นกัน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
03 เม.ย. 2568
หากเราจะโฟกัส หรือมองหาคนหนุ่มไฟแรงในยุคสมัยนี้แล้ว หนึ่งในคนหนุ่มเหล่านั้น ชื่อของ “ธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต” หรือ “คุณแม็ก” ย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน เพราะการเติบโตของเขาไม่ธรรมดา เพราะถึงปัจจุบัน เขามีเครือข่ายธุรกิจแตกแขนงออกไปอย่างมากมา...