เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงถึงการบริหารจัดการวินจักรยานยนต์สาธารณะ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงสาเหตุที่ยังพบวินจักรยานยนต์สาธารณะบนทางเท้าว่า ปัจจุบัน กทม.มีวินจักรยานยนต์สาธารณะทั้งสิ้น 5,365 วิน มีผู้ขับขี่จำนวน 79,521 ราย สถานที่ตั้งของวินจักรยานยนต์สาธารณะมีความหลากหลาย โดยแบ่งเป็นตั้งอยู่บนทางเท้า 1,497 วิน พื้นที่เอกชน 1,186 วิน บนผิวจราจร 2,107 วิน และอื่น ๆ (เช่น สวนหย่อม) 575 วิน ซึ่งจำนวนวินและผู้ขับขี่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ เช่น การเลิกขับขี่ การมาขอขับขี่รายใหม่ การถูกดำเนินคดี หรือการเสียชีวิต
ในส่วนเหตุผลที่ยังวินจักรยานยนต์สาธารณะบางส่วนยังคงตั้งอยู่บนทางเท้านั้น โฆษก กทม. กล่าวว่า มีปัจจัยจากข้อกำหนดทางกฎหมายในอดีต โดยรายละเอียด คือ ก่อนปี พ.ศ. 2556 ประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ข้อ 1 (1) กรณีตั้งอยู่บริเวณทางเท้า ผิวจราจร และที่สาธารณะ ต้องไม่มีผลกระทบต่อผู้เดินเท้าและการจราจร โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)
จากนั้นหลังปี พ.ศ. 2559 มีการแก้ไขประกาศฯ โดยกำหนดให้คณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครมีอำนาจพิจารณากำหนดสถานที่ตั้งวินตามความเหมาะสมภายใต้ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่า วินที่มีการประกาศจัดตั้งก่อนปี 2556 สามารถตั้งอยู่บนทางเท้าได้ แต่หลังปี พ.ศ. 2559 กฎหมายไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ตั้งวินบนทางเท้าได้อีกต่อไป ด้านมาตรการควบคุมและบทลงโทษ โฆษก กทม. ระบุย้ำว่า ผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์สาธารณะทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 (2) ที่ห้ามขับขี่หรือจอดรถบนทางเท้า ผู้ที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าจะต้องถูกดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับว่าด้วยกฎหมายฯ พินัย ไม่เกิน 5,000 บาท และหากผู้ขับขี่คนใดกระทำผิดฐานขับขี่รถบนทางเท้าเกิน 2 ครั้ง ภายในปีเดียวกันนับแต่การทำผิดครั้งแรก คณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครมีอำนาจถอดชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์สาธารณะได้ ตามประกาศคณะกรรมการประจำ กทม. พ.ศ. 2563 ข้อ 13 (6)
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.ได้นำแอปพลิเคชันมาใช้ในการเก็บข้อมูลของวินจักรยานยนต์ฯ ผู้ขับขี่ และรายละเอียดอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลการกระทำความผิดฐานขับขี่รถบนทางเท้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้สำนักงานเขตดำเนินการตามมาตรการลงโทษที่กำหนดไว้
“กทม. พยายามให้สำนักงานเขตจัดหาสถานที่ตั้งวินแห่งใหม่แทนทางเท้าสาธารณะ แต่การดำเนินการยังทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสถานที่ กทม. ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดระเบียบวินจักรยานยนต์ฯ ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในเมืองหลวง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้ขับขี่วินฯ กระทำผิดกฎหมายสามารถถ่ายภาพแจ้งผ่าน Traffy Fondue ได้” โฆษก กทม. กล่าว