ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
พ.ต.ท. ทวี เปิดโครงการฯภาษาเพื่อการสื่อสารฯ ให้สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์
20 ก.ค. 2568

(20 กรกฎาคม 2568) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จังหวัดภูเก็ต ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ”โครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร และจริยธรรม ให้แก่เด็กและเยาวชน ในจังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2568“ ในการอบรมวิทยากรอิสลามศึกษาจังหวัดภูเก็ต ประจำปีพ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ในจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมโรงแรมศุภาลัย ซีนิค เบย์ รีสอร์ทแอนด์สปา บ้านอ่าวปอ ตำบลปากคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดโดย สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ต ร่วมกับหน่วยสอบที่ 21 และ 43 เขตการศึกษาที่ 7 สมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ งบประมาณสนับสนุนการจัดงาน โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นำคณะ ให้การต้อนรับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดโครงการส่งเสริมทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสารและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตประจำปี พ.ศ. 2568 ว่า “โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษามาลายู และส่งเสริมการเรียนรู้หลักจริยธรรมอิสลาม เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต”

“ในนามของรัฐบาล ผมมีความซาบซึ้งใจที่ทุกท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมดี ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนของเรา ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของสังคมไทย และมีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การค้า และสังคม โดยมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและพัฒนาประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ผมได้รับโอกาสใช้ชีวิตในห้วงที่รับราชการและการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและสังคมมุสลิม จึงทราบดีถึงความตั้งใจดีและปรารถนาดีของทุกท่านที่มีต่อสังคมมุสลิมและสังคมไทยในภาพรวม

​การพัฒนาสังคมและส่งต่อสังคมที่ดีจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือ การศึกษา”

“การที่สมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตได้จัดกิจกรรมโครงการในลักษณะนี้ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนและขยายผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้เยาวชนมีความถนัดด้านภาษา ซึ่งทั้งสามภาษาล้วนมีบทบาทสำคัญในบริบทสังคมโลกปัจจุบัน ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารทั่วโลกและเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคต ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า 22 ประเทศทั่วโลก และภาษามาลายู ก็มีการใช้กันในหมู่ประชากรโลกมากกว่า 350 ล้านคน การที่เด็กๆ และเยาวชนของเรามีความถนัดในภาษาเหล่านี้ ก็จะส่งผลดีกับตนเองและส่งผลถึงศักยภาพของประเทศในระยะยาว”

​“จังหวัดภูเก็ตถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สะท้อนความเป็นพหุสังคมระดับโลก เรามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 กว่า 9.1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ 50,000 คน เฉลี่ยวันละมากกว่า 300 เที่ยวบิน สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 6 เดือนล่าสุด มีเที่ยวบินมากถึง 55,108 เที่ยวบิน เกินกว่า 50% เป็นสายการบินระหว่างประเทศ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงกับโลกในทุกมิติ ชุมชนมุสลิมในภูเก็ตจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะแสดงบทบาทในฐานะเจ้าของบ้านที่ดีควบคู่ไปกับการรักษาอัตลักษณ์และการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อพูดถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจ”

”ผมขอเรียนทุกท่านว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจนถึงปี 2570 แม้เงินทุนก้อนนี้จะไม่ได้ส่งมาที่จังหวัดภูเก็ตโดยตรง แต่โดยหลักแล้วโครงสร้างการประกอบการ แรงงาน และการใช้จ่ายเงิน จะเวียนเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตอย่างแน่นอน“ - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวม เรื่องข้อเสนอทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับระบบการเงินปลอดดอกเบี้ยนั้น ในภาพรวมสังคมไทยเรามีพัฒนาการด้านการเงินอิสลามมากว่า 30 ปี ตั้งแต่การก่อตั้งสหกรณ์อิสลามแห่งแรกในปี 2527 การเปิด อิสลามิกวินโดว์ (Islamic Window) ในธนาคารพาณิชย์ในปี 2541 และการก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในปี 2546 และข้อมูลปี 2567 ชี้ว่า มูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมการเงินอิสลามในไทยมีมากกว่า 4,358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 140,000 ล้านบาท) และเติบโตเฉลี่ย 5.56% ต่อปี โดยมีธนาคารอิสลามและสหกรณ์อิสลามเป็นกลไกหลัก และยังขยายไปกว่า 54 แห่งทั่วประเทศ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและโอกาสในการเติบโตอย่างมั่นคงของการเงินอิสลามในประเทศไทย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมยืนยันว่าโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนมุสลิมภูเก็ตและมุสลิมไทยในภาพรวมจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยจะคำนึงถึง สามเสาหลัก ได้แก่

1.ปลอดดอกเบี้ย (Riba-Free) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงทุนอย่างเท่าเทียม

2.เศรษฐกิจฮาลาล (Halal-Based Economy) ครอบคลุมกระบวนการผลิตและบริการที่สอดคล้องกับหลักศาสนา

3.ระบบซะกาต (Zakat-Based Redistribution) เพื่อกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนในชุมชน”

ข้อมูลปี 2024 ของระบบการเงินโลก (Global Finance) ระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินอิสลาม (Islamic Financial Services Industry – IFSI) มีอัตราการเติบโตสูงถึง 14.9% ต่อปี และมีสินทรัพย์รวมกว่า ๓

3.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาค ศุกูก (ตราสารทุนตามหลักชะรีอะฮ์) ขยายตัวถึง 25.6% และภาค ตะกาฟุล (การประกันภัยอิสลาม) เติบโต 16.9% ซึ่งสะท้อนพลังของภาคส่วนที่มิใช่ธนาคาร (non-bank segments) ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

​แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมิใช่เพียงโครงสร้างทางการเงิน แต่คือ ทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และธรรมาภิบาลที่ยึดมั่นในหลักศรัทธาอย่างเข้มแข็ง รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม จะมุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจคุณธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ (ปลอดดอกเบี้ย) พร้อมทั้งสนับสนุนสหกรณ์อิสลาม กองทุนผู้ประกอบการฮาลาล และการพัฒนากลไกอนุญาโตตุลาการอิสลาม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่โปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน ท้ายที่สุด”

”ผมหวังว่าการอบรมของสมาคมฟัรดูอัยน์คุรุสัมพันธ์ภูเก็ตในวันนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยบ่มเพาะความรู้ ความศรัทธา และความเข้มแข็งให้กับชุมชนมุสลิมในภูเก็ต พร้อมเชื่อมโยงไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศไทย โลกมุสลิม และสังคมระหว่างประเทศต่อไปครับ“ - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
17 ก.ค. 2568
การแพทย์เป็นหนึ่งในระดับความสำคัญของการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากตัวนายแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์แน่นอนย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคสมัยใหม่นี้ด้วยแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้พัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเรา...