นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องได้ประชุมเพื่อหารือถึงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อยกระดับระบบรถโดยสารสาธารณะขนส่งมวลชนกรุงเทพ เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการศึกษาเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) จำนวน 30 เส้นทาง ซึ่งเป็นแนวเส้นทางที่ในปัจจุบันยังไม่มีการให้บริการ เพื่อรองรับผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสามารถใช้บริการต่อได้ในระยะทางรอบสถานีรถไฟฟ้า
ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) ในกรุงเทพฯ จำนวน 30 เส้นทาง จากเดิมที่มีการศึกษาแนวเส้นทางทั้งหมด 111 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ฯลฯ โดย 30 แนวเส้นทางดังกล่าวไม่ใช่แนวเส้นทางที่ภาครัฐจะมีการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 261 เส้นทาง เหมือนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีตามแผนจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาเห็นชอบก่อน จากนั้นจะมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการออกประกาศจ้างเอกชนเดินรถในแต่ละเส้นทางต่างๆต่อไป โดยคาดว่าจะได้เห็นแนวเส้นทางรถฟีดเดอร์ที่มีความพร้อมภายในปีนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในปัจจุบันกทม.มีป้ายรถเมล์รอบกรุงเทพฯ จำนวน 5,197 จุด เบื้องต้นในระยะแรกจะดำเนินการทำป้ายรถเมล์เพิ่ม จำนวน 1,000 ป้าย ในรอบรัศมี 96 ตารางกิโลเมตร บริเวณวงแหวนรอบถนนรัชดา ซึ่งกทม.จะมีการเจรจากับสำนักงานเขตของกทม. เพื่อดำเนินการจัดทำป้ายรถเมล์ต่อไป