นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินงานโครงการสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิต การแปรรูป และการขนส่งเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท หลังพบว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจขอใช้บริการโครงการระยะเวลาที่ 1 ไปแล้วกว่า 7.7 หมื่นราย วงเงินกว่า 32,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อดังกล่าวช่วยให้เกษตรกรได้มีเงินทุนในการจัดหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการผลิตของตนเอง รวมถึงช่วยประหยัดต้นทุนด้านดอกเบี้ย เนื่องจาก ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เกษตรกรสามารถขอกู้เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการผลิตการแปรรูปหรือการรักษาคุณภาพผลผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร การซื้อรถยนต์ รถบรรทุก ที่ใช้ในการขนส่งผลผลิตการเกษตรและผลผลิตการเกษตรแปรรูป และยังสามารถกู้เพื่อนำไปชำระค่าเช่าซื้อ (Refinance) จากบริษัทผู้ประกอบกิจการให้เช่าซื้อเครื่องจักร เครื่องยนต์การเกษตรที่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกรแบบ Flat Rate ได้ด้วย แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์คือวงเงินไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ซื้อ และไม่เกินจำนวนเงินค่าเช่าซื้อคงเหลือพร้อมค่าอุปกรณ์ที่ผ่อนชำระกับบริษัท
รวมกับค่าบำรุงซ่อมแซมหรือการจัดหาอุปกรณ์ต่อพ่วงให้ทรัพย์สินนั้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 7 ต่อปี กำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 7 ปี และไม่เกินสภาพอายุการใช้งานของทรัพย์สินที่ซื้อ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (ปีบัญชี 2558-2560) หรือสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้ไม่เกิน 31 มีนาคม 2561 โดยใช้หลักทรัพย์จำนองค้ำประกันและหรือการใช้บุคคล ซึ่งกรณีใช้บุคคลค้ำประกันสามารถขอใช้สินเชื่อวงเงินสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
“เกษตรกรที่ใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวที่ผ่านมา สามารถนำเครื่องจักร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มมูลค่าผลผลิตภายในฟาร์ม ในสวนหรือไร่นาของตนเอง รวมถึงการนำไปให้บริการแก่คนทั่วไปเช่น ซื้อรถไถ รถเกี่ยวนวดข้าว รถตัดอ้อย ไปช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เพิ่มรายได้และสร้างงานในชุมชน การซื้อรถยนต์กระบะรถบรรทุก เพื่อขนผลผลิตไปจำหน่าย การซื้อเครื่องจักรที่ใช้แปรรูปสินค้า ทำบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันรองรับการก้าวสู่ AEC นอกจากนี้พบว่าเกษตรกรสามารถลดภาระดอกเบี้ยลงได้ประมาณรายละ 30,000 บาท”