คณะผู้ก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย หารือมาตรการเยียวยาของรัฐ เล็งกระจายความช่วยเหลือต้องทั่วถึง วอนรัฐงัดมาตรการดูแลผู้ประกันตนในระบบ ยกระเบียบหน้าเว็บ สนง.ประกันสังคม เร่งเบิกจ่ายกองทุนชราภาพ ช่วยเหลือผู้ประกันตน ย้ำ!! เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดี เผย สมทบไม่ถึง 12 เดือน เบิกคืนได้ เพื่อบรรเทาเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มลูกจ้างยังชีพในสภาวะวิกฤติ Covid-19
ดร.รยุศด์ บุญทัน แกนนำผู้ร่วมผู้ก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย เปิดเผยว่า คณะทำงานพรรคสามมัคคีไทย ได้หารือถึงมาตรการเงินเยียวยารัฐบาลและแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีบริษัทฯ ห้าง ร้าน โรงแรม ร้านอาหาร ลูกจ้างแรงงาน ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว เพื่อควบคุมและกำกับดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉินป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส โคโรน่า (Covid-19) ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐกำหนดให้ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ขึ้นทะเบียนออนไลน์ จนปรากฏมีผู้ยื่นความประสงค์ขอรับการเยียวยากว่า 24 ล้านคน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เกินกำลังงบประมาณที่รัฐจัดเตรียมไว้เพียง 1.35 แสนล้านบาท หรือเยียวยาได้เพียง 9 ล้านคน ทำให้ประชาชนอีก 15 ล้านคน ที่อาจจะไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา แต่ได้รับผลกระทบจริง ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ท่ามกลางวิกฤติและมาตรการปิดสถานประกอบการได้
ตลอดจนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ยังคงเรียกร้องให้รัฐกำหนดมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเร่งด่วน จนคณะรัฐมนตรีต้องประชุมหารือเพื่อเพิ่มมาตรการเยียวยา โดยจะออก พรก.เงินกู้กว่า 1.9 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ภายใต้กรอบวงเงินกู้ฉบับนี้ อาจเป็นมาตรการที่จะดำเนินการในช่วงหลังวิกฤติหรือไม่ และขั้นตอนอาจมีความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
ดร.รยุศด์ กล่าวต่อว่า พรรคสามัคคีไทยจึงเสนอทางออกเพื่อขอให้รัฐเร่งพิจารณาเบิกจ่ายเงินกองทุนชราภาพ ตามระเบียบใหม่ของสำนักงานประกันสังคม ที่ประกาศไว้ในเว็บไซด์ของสำนักงาน ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 กรณีประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ ที่ระบุไว้ ดังนี้
1.กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ มีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
2.กรณีผู้รับเงิน บำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
ดร.รยุศด์ ยังกล่าวอีกว่า การจะใช้เงินกองทุนชราภาพนั้น ผู้ประกันตนต้องรอเงื่อนไข อายุครบ 55 ปี จึงจะใช้สิทธิดังกล่าวได้ หากผ่อนปรนในส่วนนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเข้าถึงแหล่งเงินทุนของตนเอง เปรียบเสมือน "เบิกถอนเงินฝากสมทบของตนเองเพื่อเยียวยาตนเอง" ส่วนรัฐและคณะกรรมการกองทุนจะกำหนดสัดส่วนการเบิกถอนเช่นไร อาจใช้หลักเกณฑ์พิจารณาเป็นกึ่งหนึ่ง ของระยะเวลาที่สมทบ (จำนวนเดือน) และสัดส่วนร้อยละ ที่สมทบเข้ากองทุนชราภาพดังกล่าว เพื่อให้สามารถเข้าถึงเงินบางส่วนพอเหมาะพอสมกับมาตรการเยียวยา และไม่กระทบต่อเงินสะสมอีกกึ่งหนึ่งสำรองชดเชยบำเหน็จ บำนาญ ในห้วงเวลาที่ผู้ประกันตนชราภาพในภายภาคหน้า
สิ่งนี้คือแนวทางแก้ไขปัญหาและข้อเรียกร้องที่เราวอนขอให้รัฐพิจารณา และขอให้คณะกรรมการกองทุน มีมาตรการเบิกให้ใช้กองทุนชราภาพโดยไม่กระทบวัยเกษียณ แต่ให้เข้าถึงแหล่งเงินตนเองเพียงครึ่งเดียว โดยกองทุนยังมี เงินนายจ้างสะสมอยู่ และเงินสมทบรัฐ สะสมอยู่
ดร.รยุศด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การกำหนดมาตรการเยียวยาทุกกระบวนการ ควรเริ่มจากการจำแนกกลุ่มคนที่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่ จะชัดเจนที่สุด อาทิ จากประชาชนผู้ถือบัตรประชารัฐ 14 ล้านราย จากฐานข้อมูล 4 อาชีพนอกระบบที่รัฐมีอยู่แล้ว คือ มัคคุเทศน์ วินรถจักรยานยนต์ กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และที่เราไม่อาจละเลยและจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเยียวยาเร่งด่วนอีกกลุ่ม คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ด้วยเหตุนี้ การใช้เงินชราภาพก่อนกำหนด เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินเยียวยาตนเอง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของเงินสมทบตนเอง ไม่เกี่ยวกับเงินสมทบส่วนของนายจ้าง และเงินสมทบของรัฐ ย่อมเป็นการบรรเทาภาระครองชีพของประชาชนในระบบกว่า 16.5 ล้านคน อีกด้วย